Customers Success, Customers Success-Ci, Success - ArchiCAD

ทางเลือกใหม่ในการถอดปริมาณ (ArchiCAD BIM)

 

หากจะพูดถึงงานถอดปริมาณเราคงคุ้นเคยกับการปริ้นต์แบบ หรือใช้ไฟล์.dwg ซึ่งเป็นแบบ 2 มิตินำมาคำนวณด้วยมือ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน แต่อาจจะใช้เวลาในการทำงานพอสมควร วันนี้เรามีตัวช่วยให้งานถอดปริมาณสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นมาแนะนำกัน เป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า BIM จากโปรแกรม ArchiCAD โดยขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ได้ลองนำไปใช้งานจริงมาแบ่งปันให้ฟังกัน

ลักษณะอาคารและความต้องการของโครงการ

โครงการนี้เป็นอาคารพักอาศัย 8 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอยโครงการ 4,200 ตร.ม. ทางเจ้าของโครงการต้องการข้อมูลปริมาณและมูลค่าโครงการ โดยกำหนดว่าต้องแล้วเสร็จภายใน 3 วัน ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 5 วัน  สำหรับอาคารขนาดนี้ ทางเราจึงมองหาตัวช่วยให้งานสามารถทำได้เสร็จเร็วขึ้น เราจึงนำ ArchiCAD BIM มาใช้ในงานนี้ โดยทดลองใช้กันการถอดปริมาณงานสถาปัตยกรรม ที่เลือกใช้กับการถอดปริมาณงานสถาปัตยกรรมเนื่องจากเป็นงานที่มีรายละเอียดมากและใช้ระยะเวลาในการทำงานมากที่สุด แต่กระนั้นเราก็ยังให้ทีมงานถอดปริมาณด้วยมือควบคู่กันไป เพื่อนำมาเปรียบเทียบข้อมูลทั้งหมด  ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ การใช้  ArchiCAD ถอดปริมาณใช้เวลาเพียง 1 วัน ก็สามารถได้ข้อมูลครบถ้วน  โดยในส่วนของการถอดปริมาณด้วยมือนั้นใช้เวลาถึง 3 วัน จากนั้นได้นำข้อมูลทั้งหมดไปจัดรูปแบบในเอกสาร BOQ (Bill of Quantities) อีกที จากที่ได้นำ BIM มาใช้ จึงทำให้งานนี้เสร็จทันตามเวลาที่กำหนด ซึ่งสรุปขั้นตอนคร่าวๆ มาให้เพื่อนๆ ได้ดู ดังนี้

  • อาคารพักอาศัย 8 ชั้น สร้างแบบโมเดล 3D เพื่อให้โปรแกรมดึงข้อมูลที่ต้องการออกมา

แบบโมเดล 3D อาคารพักอาศัย 8 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอย 4,200 ตร.ม.

  • เมื่อเขียนเสร็จ โปรแกรมจะถอดปริมาณให้เสร็จไปพร้อมกันเลย ข้อมูลที่โปรแกรมถอดออกมานั้นเราสามารถกำหนดเองได้ตามต้องการ

  • สามารถแยกปริมาณวัสดุแต่ละรายการ / แบ่งเป็นชั้น ทำเป็น Back up sheet ได้เลย

  • สามารถถอดปริมาณงานทาสีภายนอก-ภายในได้ครบถ้วน

  • เมื่อข้อมูลครบก็สามารถแปลงไฟล์จาก ArchiCAD BIM ออกมาเป็นไฟล์ Excel เพื่อจัดรูปแบบได้ตามต้องการ

  • หลังจากนั้นใส่ตัวเลขตามข้อมูลที่ได้จาก BIM ลงในใบเสนอราคาก่อสร้าง เพียงเท่านี้ก็เสร็จ
ข้อดีของ BIM ในการถอดปริมาณ

BIM นอกจากจะช่วยให้การถอดปริมาณทำได้รวดเร็วแล้วยังช่วยในการ Revise แบบ เพื่อทำราคาใหม่ ซึ่งทำให้การแก้ราคาในบางส่วนง่ายขึ้น เนื่องจากเมื่อแก้แบบแล้วปริมาณเปลี่ยนตามอัตโนมัติ สามารถแยกข้อมูลของปริมาณ โดยแยกประเภทวัสดุ แบ่งเป็นชั้น หรือแยกเป็น Zoneได้ และสามารถนำปริมาณทั้งหมดแปลงออกมาเป็นไฟล์ Excel เพื่อจัดรูปแบบได้ตามต้องการ

อย่างไรก็ตามอาจมีข้อพิจารณาอยู่บ้างเล็กน้อย เนื่องจากการใช้ BIM ถอดปริมาณ ต้องเขียนโมเดล 3 มิติ เพื่อให้โปรแกรมดึงข้อมูลออกมาแสดงผล ทำให้ช่วงแรกอาจใช้เวลาในการเรียนรู้การใช้คำสั่งในการเขียนแบบจำลอง 3 มิติ แต่ถ้าเราใช้โปรแกรมได้อย่างชำนาญแล้วรับรองว่า BIM จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการถอดปริมาณได้อย่างแน่นอน หากสนใจจะทดลองถอดปริมาณด้วย BIM สามารถดาวน์โหลดโปรแกรม และคู่มือการใช้งานฉบับภาษาไทยไปใช้กันฟรีๆ ได้ที่ BOQ Download

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อยากให้ทุกท่านลองเปิดใจกับเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า BIM (Building Information Modeling) ซึ่ง BIM นี้ยังมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง รับรองว่าตอบสนองความต้องการของสายงานออกแบบ และก่อสร้างได้อย่างแน่นอน หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกท่านให้ลองนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อย แล้วครั้งหน้าเราจะนำประสบการณ์การใช้งานจริงมาแบ่งปันกันอีกนะครับ

By: Jirapong Anupong


Photo of author
WRITTEN BY

Frozen Whale

ยังมีอีกหลายอย่างที่รอเราเข้าไปค้นหา สิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี อย่าหยุดที่จะก้าว แต่จงก้าวต่อไปในทุกๆ วินาที เรียนรู้และอัปเดตอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ