Article - SolidPlant, Articles

ง่ายขึ้น เร็วขึ้นและถูกต้องไปกับซอฟต์แวร์ออกแบบงาน Piping 3 มิติ

ง่ายขึ้น เร็วขึ้นและถูกต้องไปกับซอฟต์แวร์ออกแบบงาน Piping 3 มิติ | AppliCAD Co., Ltd.

ปัจจุบันนี้บริษัทที่รับออกแบบงาน Piping ในส่วนของ แท่นขุดเจาะน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ โรงงานปิโตรเคมีต่างๆ โรงไฟฟ้า โรงงานผลิตน้ำประปา โรงงานบำบัดน้ำเสีย โรงงานผลิตพวกอาหารและเครื่องดื่ม โรงงานผลิตยา โรงงานผลิตน้ำตาล โรงงานผลิตกระดาษ มักจะนำซอฟต์แวร์ออกแบบที่เป็น 3 มิติมาใช้ในการออกแบบกันมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่เห็นได้ชัดเจนนั้นคือ ทำให้การสื่อสารกันง่ายขึ้นและนำเสนองานได้ชัดเจน เพราะว่าเมื่อออกแบบเป็น 3 มิติแล้ว เราก็จะเห็นโมเดลที่เสมือนจริงของงาน เพราะฉนั้นเราก็ไม่ต้องมานั่งจิตนาการว่ารูปร่างหน้าตาของงานจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรและไม่จำเป็นที่จะต้องมีความสามารถในการอ่านแบบ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ได้จากซอฟต์แวร์ออกแบบงาน Piping ที่เป็น 3 มิติมันมีมากกว่านั้น

กล่าวคือระบบท่อ (Pipe) ที่ใช้ส่งถ่ายของเหลวต่างๆ ของอุตสาหกรรมเหล่านี้จะค่อนข้างมีความสลับซับซ้อน มีท่อและอุปกรณ์จำนวนมาก พื้นที่กว้างใหญ่ การลงทุนสูง ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือความถูกต้องของข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการออกแบบ ในการออกแบบๆเดิมๆ สมัยก่อนก็จะเขียนแบบกันเป็นแบบ 2 มิติ ซึ่งผู้เขียนจะต้องใช้จิตนาการประกอบในการเขียนด้วยและการทำข้อมูลต่างๆ ของอุปกรณ์เช่น Pipe (ท่อ), Elbow (ข้องอ), Valve (วาล์ว), Flange, Gasket, B olt และอื่นๆ ก็จะต้องนับและบันทึกเองโดยผู้เขียน ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย ในลักษณะที่เรียกกันว่า Human error แต่ถ้าใช้ซอฟต์แวร์ออกแบบที่เป็น 3 มิติ ก็จะช่วยตัดปัญหาเหล่านี้ออกไป เพราะในการออกแบบที่เป็น 3 มิตินั้น ทุกอย่างจะอ้างอิงจากข้อมูลจริง ทั้งขนาดของพื้นที่ ขนาดของอุปกรณ์ต่างๆ ระยะต่างๆ รูปแบบของท่อที่เดินและข้อมูลต่างๆ ของอุปกรณ์ที่ได้ก็จะอยู่ในโมเดล 3 มิติ ถ้าโมเดลถูกต้อง ข้อมูลที่ได้ก็จะถูกต้องตามนั้นและสามารถดึงข้อมูลจากโมเดลออกมาดูได้เลย ดังนั้นข้อดีของการนำซอฟต์แวร์ออกแบบงาน Piping ที่เป็น 3 มิติ มาใช้ก็พอที่จะสรุปได้กว้างๆ คร่าวๆ ได้ดังนี้
1. ทำให้การสื่อสารกันง่ายขึ้น เพราะจะได้โมเดล 3 มิติที่เสมือนจริงกับงาน เราสามารถนำโมเดลนั้นไปคุยกับคนอื่นๆ เช่นผู้ร่วมงานและลูกค้า โดยที่คนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีความสามารถในเรื่องของการอ่านแบบ
2. ทำให้ประสิทธิภาพงานดีขึ้น เนื่องจากระยะเวลาในการทำงานก็จะสั้นลง เพราะว่าไม่ต้องเสียเวลาในการทำ Piping Isometrics Drawing, BOM (Bill of Material) และ BOQ (Bill of Quantity) สิ่งเหล่านี้สามารถดึงออกจากโมเดล 3 มิติได้เลย โดยใช้เวลาไม่นานและตัดปัญหาในเรื่องของ Human error ออกไป
3. ทำให้ดูเป็นมืออาชีพและน่าเชื่อถือในแง่ของการ นำเสนองานให้กับลูกค้า

ทีนี้มาดูซอฟต์แวร์ออกแบบงาน Piping ที่เป็น 3 มิติ ที่มีใช้กันและเป็นที่รู้จักกันในประเทศไทย ก็มีอยู่หลายค่ายหลายซอฟต์แวร์ด้วยกันดังนี้
1.ซอฟต์แวร์ Bentley AutoPLANT ของค่าย Bentley ซึ่งทางบริษัท แอพพลิแคด เป็นตัวแทนจำหน่าย (เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่บน AutoCAD)
2.ซอฟต์แวร์ PDMS ของค่าย AVIVA
3.ซอฟต์แวร์ PDS และ SmartPlant ของค่าย Intergraph
4.ซอฟต์แวร์ CADWorx ของค่าย CodeCAD (เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่บน AutoCAD)
5.ซอฟต์แวร์ AutoCAD Plant 3D ของค่าย Autodesk เป็นซอฟต์แวร์น้องใหม่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันในประเทศไทย

แต่การที่จะนำซอฟต์แวร์ออกแบบงาน Piping ที่เป็น 3 มิติมาใช้ ก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค ซึ่งอุปสรรคก็มี 2 เรื่องหลักๆ ดังนี้
1.ต้องลงทุนเพิ่มในส่วนของการซื้อหาตัวซอฟต์แวร์เพื่อที่จะนำมาใช้งาน ซึ่งซอฟต์แวร์แต่ละตัว แต่ละค่ายก็จะมีราคาแตกต่างกันไป
2.ต้องเรียนรู้ใหม่ ในส่วนของผู้ใช้หรือ User ที่ไม่เคยใช้ซอฟต์แวร์ประเภทนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเขียนโมเดล 3 มิติ, เรื่องของการทำข้อมูล Piping Spec, เรื่องของการตั้งค่า Setup และ Config ต่างๆ สำหรับตัวซอฟต์แวร์

Did You Know
หน่วยวัดสำหรับงาน Piping ที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ในประเทศไทยคือ หน่วย Mixed Metric หน่วยนี้จะบอกขนาดของท่อเป็น “นิ้ว” แต่จะบอกระยะของท่อเป็น “มิลิเมตร” หรือ “เมตร” เช่นท่อขนาด 6” ยาว 6000 มม. หรือ 6 ม. เป็นต้น

ทีนี้มาดูเครื่องมือหลักๆ ของตัวซอฟต์แวร์ออกแบบงาน Piping ที่เป็น 3 มิติ ที่จะต้องมี กล่าวคือซอฟต์แวร์ทุกตัวจะต้องมีเครื่องมือเหล่านี้

1. เครื่องมือสำหรับสร้าง Project ตั้งค่า Setup และ Config ต่างๆ ในส่วนนี้ก็จะเป็นขั้นตอนเริ่มแรกของการทำงาน เครื่องมือนี้ก็จะมีหน้าที่สร้าง Project แล้วก็ Setup ตั้งค่า Config ต่างๆ ให้เหมาะสมกับงานในแต่ละงาน ในแต่ละ Project

2. เครื่องมือสำหรับทำ Piping Spec หรือ Piping Class ที่จะใช้กับตัวซอฟต์แวร์นั้นๆ ส่วนใหญ่แล้วตัวซอฟต์แวร์เองก็จะมี Piping Spec ที่เป็นกลางๆ มาให้ใช้งานเช่นกัน เช่น Piping Spec ที่เป็น Class 150, 300, 600, 900, 1500, 2500 เป็นต้น แต่ในเรื่องของการออกแบบงานในแต่ละงานก็จะอ้างอิงมาตรฐานที่แตกต่างกัน รายละเอียดของงานก็แตกต่างกัน ผู้ใช้เองก็จำเป็นที่จะต้องสร้าง Piping Spec สำหรับงานนั้นๆ ขึ้นมาใช้กับซอฟต์แวร์

3. เครื่องมือสำหรับเขียนโมเดล 3 มิติ ในการเขียนโมเดล 3 มิตินั้นก็จะประกอบด้วยโมเดลในส่วนต่างๆ และสามารถแยกย่อยเป็นส่วนๆ ได้ดังนี้
– ส่วนของการเขียนโมเดลท่อหรือเดินท่อ (Pipe routing) ก็จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ของท่อทั้งหมดและรวมไปถึงโมเดลของ Pipe support ต่างๆ ด้วย
– ส่วนของการเขียนโมเดล Equipments ต่างๆ เช่น Vessel, Pump, Storage Tank, Exchanger และอื่นๆ รวมไปถึงการเขียนและวางตำแหน่งของ Nozzle ต่างๆ บนตัว Equipment ด้วย
– ส่วนของการเขียนโมเดล Structures ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Pipe Rank, Pipe Bridge, Steel Structure, Platform Structure, Stair, Ladder, Handrail และอาจจะรวมไปถึงโมเดลอาคารต่างๆ
– ส่วนของการเขียนโมเดลของงาน Raceways ต่างๆ เช่น Cable Tray, Conduit และ Instrument ต่างๆ (ในส่วนของการเขียนโมเดลส่วนนี้อาจจะมีให้ใช้งานแค่บางซอฟต์แวร์)

4. เครื่องมือสำหรับทำ GA Drawings (General Arrangement Drawings) สำหรับการทำ GA Drawings นั้นก็จะทำหลังจากเขียนโมเดล 3 มิติในส่วนต่างๆ เสร็จสมบูรณ์ เพื่อที่จะแสดงรายละเอียดส่วนประกอบต่างๆ ของ Plant ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อใช้ในการติดตั้ง ตรวจสอบ และซ่อมบำรุง

5. เครื่องมือสำหรับทำ Piping Isometrics Drawing หลังจากเขียนโมเดลท่อเสร็จ เราก็สามารถสั่งทำ Isometrics Drawing ของท่อได้เลย โดยจะเป็นการสั่งทำแบบอัตโนมัติ เราก็จะได้แบบ Piping Isometrics Drawing พร้อมกับตารางที่แสดง Bill of Material ของท่อและอุปกรณ์ที่อยู่ใน Drawing นั้นๆ

6. เครื่องมือสำหรับทำ Report พวก BOM (Bill of Material) และ BOQ (Bill of Quantity) การทำ BOM และ BOQ นั้นก็จะสามารถสั่งทำหลังจากเขียนโมเดลท่อเสร็จ โดยเป็นการดึงข้อมูลออกจากโมเดล ซึ่งข้อมูลที่ได้ก็จะออกมาตามโมเดลที่เขียน โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะส่งออกมาเป็นไฟล์ในรูปแบบของไฟล์ Microsoft Excel

นี้คือเครื่องมือหลักๆ ที่จะต้องมีอยู่ในตัวซอฟต์แวร์แต่ละตัว แต่บางซอฟต์แวร์อาจจะมีเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วย เข้ามาเสริมในการใช้งาน เช่น เครื่องมือสำหรับบริหารจัดการเอกสารและทำ Revision Control, เครื่องมือสำหรับกำหนด Permission ต่างๆ ในการเข้าไปใช้งานของ User, เครื่องมือสำหรับ Walk though และ รีวิวโมเดล, เครื่องมือสำหรับการ Convert ต่างๆ และอื่นๆ ซึ่งเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้อาจจะเป็นเครื่องมือที่ให้มาฟรีๆหรืออาจจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับซอฟต์แวร์แต่ละตัว

ตัวซอฟต์แวร์ที่ได้กล่าวมาในข้างต้น แต่ละตัวก็จะมีศักยภาพ ความสามารถในการทำงาน ราคาก็จะแตกต่างกันไป ความเหมาะในการนำไปใช้งานก็เช่นกัน ก็จะมีความเหมาะสมแตกต่างกันไป อย่างเช่น ซอฟต์แวร์ที่มีราคาสูง ก็จะเหมาะสำหรับงานที่มีสเกลใหญ่ๆ มีคนใช้งานเยอะๆ เพราะซอฟต์แวร์พวกนี้จะมีระบบการจัดการระบบต่างๆ ในเรื่องของการใช้งานของ User ระบบ Admin และเรื่องของ Database ต่างๆ ค่อนข้างดีและมีเสถรียรภาพ แต่ก็จะยุ่งยากในเรื่องของการ Setup ระบบ ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องของ Database, IT และ Network เพื่อที่จะมาดูแลระบบสำหรับตัวซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ แต่สำหรับซอฟต์แวร์ที่ราคาไม่สูง ก็จะเหมาะกับงานที่มีสเกลเล็กๆ ถึงกลางๆ ทั้งในแง่ของความคุ้มค่าและการใช้งาน เพราะการ Setup ระบบไม่ยุ่งยาก User สามารถเป็นได้ทั้ง Admin ระบบและคนเขียนได้ในคนๆ เดียวกัน แต่ถ้านำไปใช้กับงานที่มีสเกลใหญ่ๆ ก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องการทำงานช้าและไม่เสถรียร เวลามี User เข้ามาใช้งานพร้อมกันเยอะๆ หลายๆ คน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าซอฟต์แวร์ที่มีราคาสูงและไม่สูงก็สามารถนำมาใช้งานได้เหมือนกัน ก็คงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่จะนำมาใช้มากกว่า ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ก็ถูกสรรสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้งาน แน่นอนครับว่าถ้าได้นำนวัตกรรมเหล่านี้ไปใช้งานอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สิ่งที่จะได้กลับมาจากนวัตกรรมเหล่านี้ก็คือ “ง่ายขึ้น เร็วขึ้นและถูกต้อง”

บทความโดย: Plant Solution Team


Photo of author
WRITTEN BY

supawadee