Article - ArchiCAD, Articles

คนกรุงเทพฯ อยู่ไกลกว่า แต่ใช่ว่าจะรอดชัวร์ (จากแผ่นดินไหว)

30 ปีที่แล้ว พูดได้เต็มปากว่า เมืองไทยอยู่ได้สบายมาก ทรัพยากรธรรมชาติมากมายในน้ำมีปลาในนามีข้าว ภัยธรรมชาติมีแต่ตามฤดูกาล อย่างมากก็พายุ แต่ตั้งแต่ปี 2004 คนไทยก็ได้รู้จักภัยพิบัติที่ไม่เคยเกิดขึ้น ในช่วงชีวิตปัจจุบัน นั่นคือ คลื่นยักษ์สึนามิ ที่ถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งอันดามันของไทย คร่าชีวิตผู้คนไปนับพันในคราวเดียว ทำให้คนไทยเริ่มรู้จักทะเลในด้านของความโหดร้ายมากยิ่งขึ้น

ซึ่งคลื่นยักษ์นั้นเป็นเพียงผลพวงมาจากการขยับตัวของเปลือกโลก ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวสะเทือนไป รับรู้ได้จากใกล้ถึงไกล จากการศึกษาของทั้งหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ และหน่วยงานภาคการศึกษาอย่างแตกฉาน ปรากฎว่าประเทศไทย ไม่ได้อยู่บนรอยแยกหรือรอยเลื่อนโดยตรง เพียงแต่อยู่ขอบด้านซ้ายของเปลือกโลก Eurasia  ที่ติดกับเปลือกโลก Indian Australian โดยแนวรอยต่อจะอยู่ในทะเลอันดามันพาดผ่านเข้าในประเทศพม่า ดังรูป

เราอาจรู้สึกว่า แผ่นดินไหวนานๆ เกิดขึ้นซักครั้ง แต่จริงแล้วแผ่นดินไหวบนโลกนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา นั่นหมายถึงเปลือกโลกมีการขยับตัวอยู่เรื่อยๆ ท่านสามารถดูและติดตามสถิติของแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลาจากเว็บไซต์ http://earthquake.usgs.gov/ ที่เก็บข้อมูลแผ่นดินไหวทั่วโลก

ณ วันนี้ แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่คนไทยต้องเฝ้าระวังอีกอันหนึ่ง เช่นเดียวกับอุทกภัย นิ่งนอนใจไม่ได้อีกต่อไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหว 6.6 ริกเตอร์ ที่ประเทศพม่า ถือเป็นเหตุครั้งล่าสุด ถึงบ้านเราจะไม่ได้รับแจ้งเหตุรุนแรง เพราะอยู่ห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตร แต่ชาวกรุงที่อยู่บนอาคารสูง รวมทั้งชาวบ้านทางภาคเหนือก็สัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนจนต้องหนีกันอลหม่านออกมานอกอาคาร มีคำถามเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในอาคารสูง ทั้งใช้อยู่อาศัย และมาทำงานเพื่อหาเงิน

ตึกสูงในกรุงเทพฯ เสี่ยงมากไหม ?

1. กรุงเทพมหานครตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนและหนา สภาพดินเช่นนี้สามารถขยายการสั่นสะเทือนคลื่นแผ่นดินไหวบางความถี่ได้  3 – 4 เท่า ลักษณะชั้นดินของกรุงเทพมหานครจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันตรายจากแผ่นดินไหว ตัวอย่างของอันตรายจากการขยายคลื่นแผ่นดินไหวของชั้นดิน ได้แก่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเม็กซิโกเมื่อพ.ศ. 2528 แผ่นดินไหวครั้งนั้นเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ มีขนาด 8.1 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ชายฝั่งของประเทศเม็กซิโก และได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ที่อยู่ห่างออกไปถึง 350 กิโลเมตร สาเหตุเนื่องมาจากกรุงเม็กซิโกซิตีตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน ทำให้เกิดการขยายการสั่นสะเทือนของคลื่นแผ่นดินไหว เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ชี้ให้เห็นถึงอันตรายจากชั้นดินอ่อนและหนาของกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกันในปัจจุบัน ได้มีงานวิจัยทางด้านวิศวกรรม เพื่อศึกษาโอกาสการเคลื่อนที่ของคลื่นแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนใกล้เคียงมายังกรุงเทพมหานคร รวมทั้งโอกาสการขยายคลื่นแผ่นดินไหว เพื่อประเมินถึงอันตรายจากแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และหามาตรการป้องกันที่เหมาะสม

2. กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้จาก 3 กรณี คือ

  • แผ่นดินไหวในระดับ 7 – 7.5 ริกเตอร์ ในรอยเลื่อน จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีระยะห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 200 กิโลเมตร
  • แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 8 ริกเตอร์ ในรอยเลื่อนสกายที่ผ่ากลางพม่าแล้วลงมาที่ทะเลอันดามัน ห่างจากรุงเทพฯประมาณ 400 กิโลเมตร
  • แผ่นดินไหวขนาด 8.5 – 9 ริกเตอร์ ในแนวมุดตัวแถวหมู่เกาะอันดามันเหนือหมู่เกาะนิโคบา ห่างกรุงเทพฯ ประมาณ 600 กิโลเมตร
    การที่อาคารจะพังหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตราริกเตอร์ แต่ขึ้นอยู่กับค่าแรงเฉือนทั้งหมดในแนวราบที่ระดับพื้นดินของโครงสร้าง
    สำหรับแนวทางในการรับมือแผ่นดินไหว ไทยเราจะมีกฎหมายการก่อสร้างอาคารต้าน แผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัดและภาคตะวันตก (จ.กาญจนบุรี) ที่มีรอยเลื่อนสำคัญคือรอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี บังคับให้อาคารสูงที่เกินกว่า 15 เมตร ต้องมีโครงสร้างป้องกันแผ่นดินไหว ประกาศใช้เมื่อปี 2540

3. จากภาพสถิติการเกิดแผ่นดินไหว ตั้งแต่ปี 2456 -2542 ปรากฎว่ากรุงเทพฯ ค่อนข้างอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว มากๆ จึงอาจทำให้เบาใจได้ แต่อย่านอนใจ ดังนั้นสถาปนิกและวิศวกรอย่างเราๆ ก็ควรออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่คำนึงถึงเรื่องพวกนี้ด้วยนะครับ ไม่นั้นเวลาถ้ามันเกิดขึ้นมาจริงๆ ไม่รู้ว่าตึกในกรุงเทพฯ จะเหลือสักกี่ตึก

ยังมีข้อมูล ที่ให้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล เกี่ยวกับผลกระทบจากแผ่นดินไหวต่อกรุงเทพฯ ของเราได้แก่

แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย: งานสื่อสารนานาชาติ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จับตาแผ่นดินไหว กทม. ปัจจัยเสี่ยง ดินทรุด ตึกเก่าต้องเฝ้าระวัง: News Mthai

รวมถึงบทความการศึกษาของทั้งคนไทย และชาวต่างชาติที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ

Comparison of Shear -Wave Velocity Profiles of Bangkok Subsoils from Multi-Channel
Analysis of Surface Wave and Downhole Seismic Methods

Thanop Thitimakorn
Department of Geology, Faculty of Science, Chulalongkorn University, Bangkok, 10330, Thailand

SEISMIC HAZARD IN BANGKOK DUE TO LONG-DISTANCE EARTHQUAKES
Pennung WARNITCHAI1, Chanet SANGARAYAKUL2 And Scott A ASHFORD3

Seismic Evaluation of RC Buildings in Bangkok 
Pennung WARNITCHAI Asian Institute of Technology Pathumthani, Thailand

Documentation for the Southeast Asia Seismic HazardMaps 
By Mark Petersen, Stephen Harmsen, Charles Mueller, Kathleen Haller, James Dewey, Nicolas Luco, Anthony Crone, David Lidke, and Kenneth Rukstales


Photo of author
WRITTEN BY

admin