เรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องรู้: อัปเดตเทรนด์เทคโนโลยี 2025 ที่ช่วยยกระดับธุรกิจไทยให้ก้าวล้ำและแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล จากการรายงานของ Gartner
เมื่อเทรนด์เทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างอย่างต่อเนื่อง และบางเทคโนโลยีก็มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และมนุษย์ก็พึ่งพาสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ ในการดำเนินชีวิต เพื่อเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจ ลดต้นทุน ลดระยะเวลา ความรวดเร็วในการบริการ เพื่อให้การใช้ชีวิตและการทำงานของผู้คนมีความสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในการใช้งาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทย และธุรกิจต่างๆ ต้องมีการปรับตัวและอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือหนุนสร้างโอกาสการเติบโต การแข่งขันให้กับธุรกิจ
อัปเดตเทรนด์เทคโนโลยี 2025
ช่วยยกระดับธุรกิจไทยให้ก้าวล้ำและแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล
ในปี 2025 นักวิเคราะห์จาก Gartner ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านไอทีระดับโลก ได้คัดเลือกแนวโน้มเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ Top 10 Strategic Technology Trends ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจออกมา ให้ผู้นำด้านไอที ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) หรือผู้บริหารสูงสุดที่บริหารสายงานระบบข้อมูล (Chief Information Officer : CIO) ได้เตรียมพร้อมและติดตามเทรนด์ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางต่อการบริหารจัดการและสามารถวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจขององค์กรเพื่อก้าวเข้าสู่อนาคตได้อย่างมั่นใจ โดยจัดกลุ่มออกเป็น 3 นัยสำคัญด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1: AI Imperative and risk
ความจำเป็นและความเสี่ยงของ AI ขับเคลื่อนให้องค์กรต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างรอบคอบ ดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบ และสามารถปกป้องความมั่นคงของตนเองได้ เนื่องจาก AI ได้กลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่เข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งภายในธีมนี้มี 3 เทรนด์ ได้แก่
- Agentic AI – AI ผู้ช่วยอัจฉริยะ ทำงานแทนคุณได้ในทุกขั้นตอน
- AI ที่สามารถดำเนินการงานบางอย่างให้ได้อัตโนมัติอย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมจากมนุษย์ในทุกขั้นตอน สามารถวางแผนและดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ผู้ใช้กำหนดไว้ เหมือนเป็นตัวแทนคอยช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระ และเพิ่มขีดความสามารถของคนในองค์กรหรือแอปพลิเคชันแบบเดิม หากแต่ AI ก็ยังมีความท้าทายทั้งเรื่องความเสถียรและความมั่นคงปลอดภัย ต้องมีการควบคุมที่รัดกุมเพื่อให้แน่ใจว่าการทำงานนั้นสอดคล้องกับความตั้งใจของผู้ให้บริการและผู้ใช้งานด้วย
- Agentic AI Governance Platforms – แพลตฟอร์มควบคุม Ai
- แพลตฟอร์มกำกับดูแล AI หรือเทคโนโลยีโซลูชันที่จะเข้ามาช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถจัดการประสิทธิภาพการทำงานของระบบ AI ให้เป็นไปตามกฎระเบียบ กฎหมาย จริยธรรม ทั้งนี้ต้องมีการจัดการ และบังคับใช้นโยบายที่รับรองการใช้งาน และสามารถติดตามตรวจสอบการทำงานได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตลอดจนสามารถสร้างความไว้วางใจว่ามีการใช้งาน AI ได้อย่างมีความรับผิดชอบ หากแต่ความท้าทายที่ต้องเจอ คือ แนวทางการใช้ AI ยังคงแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและอุตสาหกรรม ทำให้การกำหนดแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกันเป็นเรื่องยาก
- Disinformation Security – ระบบรักษาความปลอดภัยจาก Fake News
- ระบบรักษาความปลอดภัยจากข้อมูลเท็จ เทคโนโลยีใหม่นี้ที่ช่วยในการแยกแยะความน่าเชื่อถือ ลดการปลอมแปลงข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ เข้ามาช่วยปกป้อง ตรวจจับ ลดการฉ้อโกง เพิ่มการควบคุมด้วยการยืนยันป้องกันไม่ให้บัญชีผู้ใช้ถูกยึดครองหรือถูกขโมยไป เทคโนโลยีนี้จะช่วยปกป้ององค์กรจากภัยคุกคามทางข้อมูลว่ากำลังเจอกับข้อมูลลวง ข้อมูลไม่ปลอดภัยอยู่หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง ต้องอาศัยการเรียนรู้แบบปรับตัวหลายขั้นตอน และการทำงานร่วมกันเป็นทีม

2: New Frontiers of Computing
เทคโนโลยีการประมวลผล (Computing) กำลังก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมไปสู่ระดับใหม่ในโลกดิจิทัล องค์กรจะต้องพิจารณาทบทวนวิธีที่เป็นอนาคตของการประมวลผลที่กำลังเปลี่ยนไปหลังจากนี้อย่างไร โดยภายในธีมนี้มี 4 เทรนด์ ได้แก่
- Post-Quantum Cryptography (PQC) – ระบบป้องกันการ Hack ด้วย Quantum Computing
- เทคโนโลยีการเข้ารหัสที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องข้อมูลจากความเสี่ยงด้านความปลอดภัย สามารถต้านทานต่อภัยคุกคามจากคอมพิวเตอร์ควอนตัม (QC) เพราะคอมพิวเตอร์ควอนตัมมีความสามารถในการถอดรหัสที่แข็งแกร่งมากกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป ทั้งนี้ PQC ไม่สามารถนำมาใช้แทนที่อัลกอริทึมแบบเดิมได้ทั้งหมด ซึ่งแอปพลิเคชันปัจจุบันอาจมีปัญหาด้านประสิทธิภาพ ส่งผลให้ในอนาคตอาจต้องปรับเปลี่ยนการเขียนโค้ดโปรแกรมใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบในอีกระยะหนึ่ง
- Ambient Invisible Intelligence – เทคโนโลยีที่แฝงไปกับเราในทุกมุมของชีวิต
- ปัญญาประดิษฐ์แบบแฝงตัว เทคโนโลยีที่ผสานเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน แนบเนียน สามารถให้บริการและทำงานอยู่เบื้องหลังโดยที่ผู้ใช้งานไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของมัน เพื่อมอบประสบการณ์ที่เป็นธรรมชาติ และใช้งานง่ายยิ่งขึ้น ช่วยให้การตรวจจับและติดตามสิ่งของในรายการแบบเรียลไทม์ด้วยต้นทุนต่ำ เพิ่มการมองเห็นที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งนี้อาจกลายเป็นแนวทางใหม่ที่ทำให้มีศักยภาพในการรายงานตัวตน ส่งข้อมูลประวัติ และคุณสมบัติต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างชาญฉลาดและไม่รบกวนประสบการณ์การใช้งาน หากแต่ผู้ให้บริการต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและขอความยินยอมสำหรับการใช้ข้อมูลบางประเภท ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะปิดใช้งานแท็กเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวได้
- Energy-Efficient Computing – เทคโนโลยีที่ลดการใช้พลังงานและ Carbon Footprint
- เทคโนโลยีการประมวลผลแบบประหยัดพลังงาน มุ่งเน้นการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในอนาคต ผ่านสถาปัตยกรรม โค้ด และอัลกอริทึมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ได้รับการปรับให้เหมาะสม และการใช้พลังงานหมุนเวียนในการเรียกใช้ระบบต่างๆ เพื่อให้สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน (Carbon Footprint) ได้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มการประมวลผลแบบใหม่ยังมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องมีการลงทุนฮาร์ดแวร์ใหม่ หรือต้องใช้บริการ Cloud รวมทั้งจะต้องมีการเสริมทักษะ เครื่องมือ อัลกอริทึม และแอปพลิเคชันใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลได้ดีขึ้นแบบองค์รวม ก้าวไปสู่การดำเนินงานต่างๆ ในองค์กรให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- Hybrid Computing – การประมวลผลแบบ Hybrid
- การประมวลผลแบบไฮบริด (Hybrid) ที่จะต้องผสมผสานทั้งหน่วยประมวลผล พื้นที่จัดเก็บ และ Networks ที่ต้องมีประสิทธิภาพสูงในการแก้ไขปัญหาเชิงคำนวณต่างๆ เพื่อให้มีทรัพยากรที่พร้อมสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงานที่หลากหลาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูล เช่น AI ที่ทำงานได้เหนือกว่าข้อจำกัดของเทคโนโลยีปัจจุบัน ธุรกิจอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ Automation ที่เหนือขึ้นไปอีกขั้น และการเสริมสร้างศักยภาพของมนุษย์ หากแต่เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น มีความซับซ้อนในระดับสูง และจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการพัฒนาและใช้งาน รวมทั้งต้องพิจารณาระบบโมดูลอัตโนมัติที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และราคาต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการแบบบูรณาการ

3: Human-machine Synergy
การผสานการทำงานระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร เชื่อมโยงระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้มนุษย์และเครื่องจักรทำงานเชื่อมโยงกันได้มากยิ่งขึ้น โดยธีมนี้มี 3 เทรนด์ ได้แก่
- Spatial Computing – โลกเสมือนจริงที่สัมผัสได้
- เทคโนโลยีการคำนวณเชิงพื้นที่ จะช่วยยกระดับโลกความเป็นจริงผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Augmented Reality (AR) หรือ Virtual Reality (VR) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดื่มด่ำสมจริงมากยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านเกม การศึกษา และอีคอมเมิร์ซ รวมถึงในด้านการดูแลสุขภาพ การค้าปลีก และภาคการผลิตที่จะมีเครื่องมือ Visualization สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพ และสนับสนุนการตัดสินใจได้มากขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องราคา ขนาด และความซับซ้อนของอุปกรณ์ รวมถึงความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล
- Polyfunctional Robots – หุ่นยนต์อเนกประสงค์ ผู้ช่วยทำงานอัตโนมัติยุคใหม่
- หุ่นยนต์ที่ทำงานได้หลายฟังก์ชัน สามารถทำงานได้หลากหลายและสลับไปมาระหว่างงานต่างๆ ตามความต้องการได้อย่างราบรื่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ คืนทุนเร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ซึ่งหมายความว่าสามารถใช้งานได้รวดเร็ว ความเสี่ยงต่ำ และปรับขนาดได้ สามารถทำงานทดแทนหรือทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ด้วย อย่างไรก็ตามในอุตสาหกรรมนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นมาตรฐานว่าควรจะต้องมีราคาเท่าไหร่หรือควรจะต้องมีฟังก์ชันการทำงานที่จำเป็นขั้นต่ำอย่างไรบ้าง
- Neurological Enhancement – เทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาสมอง
- เทคโนโลยีระบบประสาทที่สามารถเพิ่มทักษะการรับรู้เข้าใจผ่านการอ่านและถอดรหัสกิจกรรมของสมองได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับทักษะมนุษย์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิด การประมวลผลข้อมูล ปรับปรุงความปลอดภัย การศึกษาแบบเฉพาะบุคคล และการทำการตลาดยุคใหม่ ตลอดจนการอนุญาตให้ผู้สูงอายุทำงานได้นานยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่ต้องคิดทบทวนก่อนเริ่มต้นใช้สิ่งนี้ คือ เทคโนโลยีดังกล่าวยังคงมีราคาที่แพง มีข้อจำกัดด้านแบตเตอรี่ มีการรุกล้ำและมีความเสี่ยงจากการใช้ UBMI และ BBMI เพื่อเชื่อมต่อกับสมองมนุษย์โดยตรง ซึ่งยังมีข้อกังวลด้านจริยธรรม และความปลอดภัยเป็นอย่างมากหากนำมาใช้งาน
สรุป
CIO (Chief Information Officer : ผู้บริหารสูงสุดที่บริหารสายงานระบบข้อมูล) และ IT (Information Technology : ผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ) จะใช้ประโยชน์จาก Gartner Top 10 Strategic Technology Trends ปี 2025 ได้อย่างไร?
- วิเคราะห์เชิงลึกถึงแนวโน้มที่ Gartner คาดการณ์ว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ
- ศึกษากรณีตัวอย่างจากผู้ที่นำมาใช้ก่อน
- พิจารณาว่านวัตกรรมเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านดิจิทัลขององค์กรอย่างไร
- คาดการณ์ว่ารูปแบบธุรกิจและรูปแบบการดำเนินงานอาจต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร
- แจ้งการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ระยะกลางและระยะยาว รวมถึงแผนงานด้านเทคโนโลยี
ทั้งหมดนี้คือ 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์จาก Gartner ประจำปี 2025 ที่ทำให้เห็นว่าโลกแห่งอนาคตกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด โดยเฉพาะในด้าน AI, การประมวลผล และการผสานเทคโนโลยีกับมนุษย์ ผู้ประกอบการ ธุรกิจ และองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในหลายด้าน ทั้งด้านการลงทุน การพัฒนาบุคลากร การปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ตลอดจนการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น จากกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี หากสามารถปรับตัวและนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มซึ่งจะนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันหากไม่เร่งปรับตัว หรือใครพลาดปรับตัวไม่ทัน อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน มีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังทันที
ในปี 2025 องค์กรที่ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI, IoT และแพลตฟอร์มคลาวด์ จะมีโอกาสเพิ่มรายได้และลดต้นทุนได้มากขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับองค์กรที่ไม่ปรับตัว Gartner ยังชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่เน้นการทำงานร่วมกัน (Collaborative Technology) จะกลายเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารธุรกิจในยุคใหม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องการความรวดเร็วและแม่นยำ เช่น การผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์
แหล่งที่มา https://www.gartner.com/en/articles/top-technology-trends-2025
บมจ.แอพพลิแคด มีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่พร้อมให้บริการกับคุณอย่างเต็มที่ ทั้งบริการโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแบบครบวงจรมากมาย ครอบคลุมถึงการออกแบบ การพัฒนา และดูแลรักษาระบบงาน ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และ 3D Printer รวมทั้งบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เรามีความยินดีที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การบริหารจัดการ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มโอกาสการเติบโต สร้างความสำเร็จในการแข่งขันให้กับธุรกิจขององค์กรต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนของธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นใจและยั่งยืน
“เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เทคโนโลยีจึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่มันคือหัวใจสำคัญของการอยู่รอด”
หากท่านสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อ หรือปรึกษากับเราได้ที่ 095-365-6871