Article - SolidWorks, Article Mi, Articles

MARCUS อากาศยานสัญชาติไทย ไร้คนขับ!!!

MARCUS อากาศยานสัญชาติไทย ไร้คนขับ

MARCUS อากาศยานสัญชาติไทย ไร้คนขับ

MARCUS อากาศยานไร้คนขับเพื่อการตรวจการณ์ทางทะเล (Maritime Aerial Reconnaissance Craft Unmanned System) ความภาคภูมิใจที่ได้เห็นผลงานฝีมือคนไทย

นับว่าเป็นผลงานที่ยืนยันความสามารถของคนไทย ที่ไม่แพ้ชาติใด ในโลกจริงๆ กับ MARCUS อากาศยานไร้คนขับเพื่อการตรวจการณ์ทางทะเล ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย และความร่วมแรงร่วมใจที่มีเป้าหมายเดียวกัน จนผสมผสานกลายเป็นผลงานที่น่าชื่นชม “ที่สำคัญที่สุด เป็นฝีมือการออกแบบของคนไทย รวมถึงการผลิตทุกขั้นตอนภายในประเทศ โดยคนไทย”

บริษัท แอพพลิแคด จำกัด (มหาชน) ได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์โครงการวิจัยฯ ในครั้งนี้ ถึงความเป็นมาและอุปสรรคต่างๆ กว่าจะมาเป็น MARCUS อากาศยานไร้คนขับเพื่อการตรวจการณ์ทางทะเล ที่สามารถใช้แทนคนได้ มีศักยภาพในการบินได้ยาวนานไม่ต่ำกว่า 4 ชม. พร้อมทั้งยังมีความคงทนแข็งแรงด้วยวัสดุที่คิดค้นและพัฒนามาอย่างลงตัว ที่สำคัญสามารถบังคับโดยโปรแกรมอันชาญฉลาดได้อีกด้วย  

ข้อมูลในการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก

นาวาเอก ภาณุพงศ ขุมสิน, ผู้อำนวยการกองแผนและโครงการ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ, ผู้แทนคณะนักวิจัยโครงการฯ

คุณธนดล ถมยา (CEO) Siam Dry Tech Composites Co., Ltd.

คุณวิทวัส เพ็ชรพัว CAD Designer

ที่มาของโครงการวิจัยฯ : สำนักการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้กรุณาให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในด้านที่เกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับ แก่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ในกรอบงบประมาณจำนวน 10,000,000 (สิบล้าน) บาท เนื่องจากทาง สวพ.ทร. ได้เคยมีการวิจัยและพัฒนาด้านอากาศยานไร้คนขับมาแล้วหลายแบบหลายรุ่น และมีความต้องการขยายผลการวิจัยและพัฒนาเพื่อการมีอากาศยานไร้นักบินที่พร้อมผลิตใช้งานจริงสำหรับภารกิจทางทะเล

MARCUS อากาศยานสัญชาติไทย ไร้คนขับ

Concept & Key Idea ในการออกแบบอากาศยานไร้คนขับ : จากข้อกำหนดตั้งต้นที่มาจากภาระกิจการลาดตระเวนทางทะเลที่มีพื้นที่กว้าง การลาดตระเวนด้วยอากาศยานไร้นักบินจะทำให้ลดต้นทุนในการปฏิบัติการและการซ่อมบำรุงรักษา (Operation Cost & Maintenance Cost) รวมถึงความเสี่ยงภัยของ บุคลากรเป็นอย่างมาก องค์ความรู้และประสบการณ์ในการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับหลากหลายแบบ ทำให้สามารถสรุปรูปร่างคุณลักษณะตามภารกิจที่ต้องการได้ แต่โครงสร้างอากาศยานส่วนใหญ่จะต้องจัดซื้อมาจากต่างประเทศ การออกแบบโครงสร้างใหม่ทั้งหมดต้องใช้ค่าใช้จ่ายและเวลาเป็นอย่างมาก ดังนั้นคณะนักวิจัยจึงใช้วิธีการ Reverse Engineer โดยการทำ 3D Scan จากโครงสร้างที่มีความใกล้เคียงกับความต้องการมากที่สุด และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบต่าง ๆ โดยยึดถือคุณลักษณะและสมรรถนะที่ต้องการ และการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสำคัญ

วัตถุประสงค์ของการใช้งาน : ต้องการมีอากาศยานไร้คนขับแบบปีกนิ่ง (ปีกตรึง) ที่สามารถขึ้นลงทางดิ่ง (ไม่ใช้ Runway) จากพื้นขนาดเล็กมาก (ประมาณ 3×3 เมตร) สามารถบินปฏิบัติการได้นานมากกว่า 5-6 ชั่วโมง ทนต่อสภาพอากาศเหนือท้องทะเล สามารถแบกรับสัมภาระ (Payload) ได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 กิโลกรัม เพื่อการพัฒนาต่อยอดได้ทั้งเพื่อการทหาร (มีการพัฒนาระบบโปรแกรมเพื่อการปฏิบัติการทางทหารในโครงการฯ นี้อีกด้วย) และการพาณิชย์

จุดเด่นอากาศยานไร้คนขับ : ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้มาจากความร่วมมือของสุดยอดฝีมือทั้ง 3 ฝ่าย เรามีองค์ความรู้เรื่องการประกอบและการใช้งาน, เราได้ Pims Technologies เข้ามาช่วยพัฒนา AI ควบคุมการบิน และเราได้ SDT Composites เข้ามาช่วยออกแบบและผลิตตัวอากาศยาน ส่งผลให้โครงการของเราเป็นอากาศยานไร้คนขับที่บินได้นานเพราะบินแบบปีกนิ่ง แต่ไม่ต้องอาศัยทางวิ่ง สามารถขึ้นและลงจากที่ใดก็ได้ ด้วยขนาดที่ค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับอากาศยานไร้คนขับในแบบใกล้เคียงกัน ทำให้เป็นอากาศยานไร้คนขับแบบปีกนิ่งขึ้นลงทางดิ่ง (VTOL) ที่ใหญ่ที่สุดแบบหนึ่ง ที่จะสามารถพบเห็นได้ในประเทศไทย เป็นการออกแบบตามคุณลักษณะและสมรรถนะที่ต้องการ ไม่ใช่การนำแบบสำเร็จจากต่างประเทศมาดัดแปลง “และที่สำคัญที่สุด เป็นฝีมือการพัฒนาและออกแบบของคนไทย รวมถึงการพัฒนาและผลิตทุกขั้นตอนภายในประเทศ โดยคนไทยทั้งหมด”

 

ความท้ายทายในการทำงานนี้ที่สำคัญมีอยู่ 2 ประการ

1. การทำ Reverse Engineer จากโครงสร้างสำเร็จรูปนั้นไม่ยาก แต่การปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมให้ได้ในสิ่งที่ต้องการนั้นยากมาก เพราะอากาศยานไร้คนขับเองก็ไม่ต่างจากเครื่องบินลำหนึ่ง ความสมดุลหรือความเข้ากันได้ของทุกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่จะติดตั้งจะมีความเกี่ยวข้องกันทั้งหมด การปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อชิ้นส่วนอื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง ความแข็งแรง สมดุล และสมรรถนะโดยรวม การจะได้มาซึ่งสมรรถนะและรูปทรงตามที่ต้องการจะต้องมีการปรับเปลี่ยนและคำนวณใหม่หลายครั้ง จึงจะได้สมรรถนะและรูปทรงตามที่ต้องการ

2. การผลิตชิ้นงานทั้งหมด โดยวัสดุแบบ Prepreg Carbon Fiber (Dry Carbon) และความเชี่ยวชาญในการผลิต เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีความแข็งแรงทนทานที่สุดด้วยน้ำหนักที่เบาที่สุด ตลอดไปจนถึงความเชี่ยวชาญในการประกอบชิ้นงานต่าง ๆ ให้เป็นอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้มากนักในประเทศไทย

จุดสำคัญที่ตัดสินใช้โปรแกรมออกแบบ 3 มิติ (SOLIDWORKS & 3D Experience Platform) : การออกแบบอากาศยานไร้คนขับ ประกอบไปด้วยชิ้นงานที่มีความสลับซับซ้อน ต้องการความละเอียดและความแม่นยำเป็นอย่างสูง รวมถึงความสามารถในการคำนวณเพื่อให้ได้สมรรถนะตามที่ต้องการ และการส่งต่อเพื่อทำ Simulation และการผลิตชิ้นงาน ที่ต้องการความเข้ากันได้ (Compatibility) ในระหว่างระบบการทำงาน (Platform) ต่าง ๆ

SOLIDWORKS & 3D Experience Platform เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร : นอกเหนือไปจากเหตุผลของจุดเด่นของโปรแกรมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถใช้โปรแกรมดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง จะช่วยดึงเอาความสามารถของโปรแกรมออกมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ นับว่าเป็นโชคดีและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ที่ได้โปรแกรมที่มีประสิทธิภาพและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้งาน ตลอดจนฝ่ายผลิตชิ้นงานที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตในระดับที่สามารถเรียกว่าหาได้ยากมากในประเทศไทย หรือแม้แต่ในระดับโลกก็ตาม

 

แรงบันดาลใจและข้อคิดดีๆ ในการทำงาน

“เรามีโจทย์ยากๆ เข้ามาเสมอ แต่ก่อนเราต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งคนไทยเองไม่แพ้ชาติในในโลก เรามีคนเก่งอยู่มาก โปรเจคเหล่านี้ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้มีการรวมกลุ่มกัน แลกเปลี่ยนความคิด สร้างโอกาสให้กับนักพัฒนา อย่างผมเองเป็นนักวิจัย เราต้องพึ่งพากันและกัน โดยภาครัฐแล้วไม่สามารถทำด้วยตัวคนเดียวได้ ต้องพึ่งพาภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ก่อให้เกิดผลงานและโปรเจคดีๆ ต่อไปครับ”

นาวาเอก ภาณุพงศ ขุมสิน, ผู้อำนวยการกองแผนและโครงการ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ, ผู้แทนคณะนักวิจัยโครงการฯ

“แรงบันดาลใจของผม คือ การเห็น และ ลงมือทำ เมื่อสำเร็จแล้ว ต้องแชร์ไปให้คนอื่นๆ ให้กับคนในวงการบ้านเรา เราขาดแค่เทคโนโลยีและความเข้าใจ ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำ และแชร์ออกไป ถ้ามีใครซักคนนำไปต่อยอดได้ นั่นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าครับ

คุณธนดล ถมยา (CEO) Siam Dry Tech Composites Co., Ltd.

“สิ่งสำคัญที่เราทุกคนไม่ควรขาดไป นั่นก็ คือ Passion ของการทำงาน ตามหาการทำงานที่มีความท้าทาย ทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ก็จะนำไปสู่โอกาสได้ครับ

คุณวิทวัส เพ็ชรพัว CAD Designer

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการวิจัยฯ ในครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดัน และแรงบันดาลใจให้กับคนไทย ที่เราจะมุ่งมั่น พัฒนา เติบโต และต่อยอด อย่างไม่หยุดยั้ง เพราะแท้ที่จริงแล้ว ศักยภาพของเราเองมีไม่แพ้ใครจริงๆ เพียงแค่เราต้องกล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ และเมื่อคุณต้องการเครื่องมือ หรือเทคโนโลยี ที่จะช่วยสนับสนุนทาง บริษัท แอพพลิแคด จำกัด (มหาชน) ยินดีที่จะเป็นที่ปรึกษา และช่วยให้คำแนะนำด้วย Solution ด้านการออกแบบ แบบครบวงจร ไปจนถึงขั้นตอนการผลิต เพราะเราอยากเห็นคนไทยไปได้ไกลกว่าที่คิด 

สำหรับท่านใดที่ต้องการคำแนะนำ หรือต้องการปรึกษา Solution ด้านการออกแบบ สามารถติดต่อได้ที่ : 02-744-9045 หรือ https://www.applicadthai.com/


Photo of author
WRITTEN BY

Frozen Whale

ยังมีอีกหลายอย่างที่รอเราเข้าไปค้นหา สิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี อย่าหยุดที่จะก้าว แต่จงก้าวต่อไปในทุกๆ วินาที เรียนรู้และอัปเดตอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ