Article - Education

Education 4.0

Education 4.0_01

Industry 4.0 คืออะไร

หลังจากที่ผมได้รับหน้าที่ให้เขียนบทความทางด้านการศึกษาเกี่ยวกับ Smart Factory หรือ Industry 4.0 ผมก็เริ่มตั้งคำถามว่า Industry 4.0 คืออะไร ต่างอะไรกับยุค 3.0 อะไรคือสิ่งที่จะบอกเราว่าเราเข้าสู่ยุค 4.0 ส่วนด้านการศึกษาเราต้องพัฒนาเยาวชนของเราด้านใดบ้าง ผู้อ่านหลายๆ ท่านคงทราบดีถึงประวัติศาสตร์กว่า 200 ปี ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ภายหลังจากที่ James Watt ได้พัฒนาเครื่องจักรไอน้ำยุคใหม่ และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายแทนแรงงานคนและสัตว์ รวมถึงการพัฒนาระบบรางต่างๆ ทำให้การขนส่งสะดวกรวดเร็วมากขึ้น จนถึงทุกวันนี้ยุคแห่งอุตสาหกรรม 3.0 วันที่เครื่องจักรมีสมองกลทำงานได้อัตโนมัติ มีความสามารถต่างๆ มากขึ้น แต่แค่นั้นไม่พอสำหรับการแข่งขันในยุคดิจิทัล ทำให้เราต้องปรับตัวและโครงสร้างอุตสาหกรรมและการศึกษา โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศน์เข้ามามีส่วนช่วยในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และนั้นคือปัจจัยที่สำคัญที่จะพาเราสู่ Industry 4.0

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะตลาดแรงงานคงมีการปรับตัวครั้งใหญ่ คนเราสามารถที่จะหาความรู้ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการพัฒนาคนทางด้านวิทยาศาสตร์คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การพัฒนาคนทางด้านศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์กลับยากกว่าเดิม และนั่นจะเป็นปัญหาใหญ่ของโลกแห่งยุค Industry 4.0 ยุคที่พี่ใหญ่อย่างอเมริกาใช้คำว่า Internet of thing ความหมายก็คือยุคที่คนเราอยู่กับ Internet ตลอดเวลา เราใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับ Social Media เด็กเรียนหนังสือกับ Youtube ชีวิตเราปัจจุบันปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้นจริงๆ และเราก็ไม่สามารถที่จะต้านทานกระแสของเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ มีแต่ต้องพัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับยุคนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงที่สุดและนั่นคือที่มาของคำว่า “Education4.0”

Education 4.0_02

Education 4.0 มันเป็นคำที่ผุดขึ้นมาหลังจากมีคำถามมากมายเกิดขึ้นว่าเราจะต้องพัฒนาระบบการศึกษาอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับอุตสาหกรรมในยุค 4.0 ผมเลยลองถามอากู๋ ผมดูว่ามันจะหมายถึงอะไร สรุปว่ายังไม่มีใครบัญญัติไว้ชัดเจนนะครับ มีแต่ Education 3.0 คือ การส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง จากสื่อการสอนทุกรูปแบบ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัล ผสมกับการทำงานเป็นกลุ่ม และปรับการสอนให้มีรูปแบบ Interactive learning รวมทั้งการนำสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการพัฒนาการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น ผมก็เลยค้นหาต่อไปว่าแล้ว Education 4.0 ต้องการอะไร และจะสนับสนุน Industry 4.0 ได้อย่างไร และก็ได้ข้อมูลจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มพัฒนาระบบการศึกษาเข้าสู่ยุค 4.0 เช่น การสร้างห้องเรียน i-SCALE คือ ห้องเรียนทันสมัยที่มุ่งเน้นการปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียน มีการเรียนการสอนที่มุ่งการคิดเชิงออกแบบ ซึ่งคือแนวทางออกแบบที่มุ่งความต้องการของผู้ใช้เป็นสำคัญ และการผลิตนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของสังคมส่วนใหญ่ หลังจากที่ผมอ่านบทความของท่านจบ ผมก็ได้พบกับความหมายของคำว่า Education4.0 ในแบบฉบับของผมซึ่งผมคิดเข้าข้างตัวเองว่าน่าจะเป็นผู้บัญญัติมันขึ้นมาเอง

Education 4.0 คือการเรียนการสอนที่สอนให้นักศึกษา สามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งบนโลกนี้ มาบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มาตอบสนองความต้องการของสังคม

            การเรียนการสอนในบ้านเราที่ผมยังพอสัมผัสได้ ยังคงห่างไกลในหลายๆ มิติ เช่น เราไม่เคยสอนให้เด็กของเราได้คิดเองทำเอง ส่วนใหญ่ยังคงสอนให้เด็กทำโจทย์แบบเดิมๆ ผมชอบเวลาที่มีหลายคนมีรูปคำตอบของเด็กๆ ที่แปลกๆ มาลงเฟสบุ๊ค ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจริงก็คงดี แสดงว่าเด็กกล้าคิดมากขึ้น อีกเรื่องคือเด็กของเราเริ่มไม่รู้จักสังคม เด็กๆ ส่วนใหญ่ใช้เวลาในโลกออนไลน์ไปกับ เกมส์ ช้อปปิ้ง เแชท เฟสบุ๊ค ไลน์ อินสตราแกรม ซึ่งส่วนใหญ่มันเป็นสังคมมายา ซึ่งเทคโนโลยีไม่ได้ผิดนะครับ แต่เหรียญมันมีสองด้าน เทคโนโลยีก็เช่นกัน เราจะนำไปใช้ในด้านใดให้เกิดประโยชน์ มันเป็นความยากและท้าทาย ผู้ที่ต้องทำหน้าที่สอนเด็กๆ ในยุคนี้ เพราะการเรียนการสอนในยุค 4.0 ต้องปล่อยให้เด็กได้ใช้เทคโนโยี ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ปล่อยให้เด็กกล้าคิดและกล้าที่จะผิด แต่ทั้งหมดก็ยังคงต้องอยู่ในกรอบที่สังคมต้องการหรือยอมรับได้ ไม่ใช่ว่าเก่งจริง คิดอะไรใหม่ๆ ได้เสมอมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งเรื่องของ Education 4.0 มันฟังดูเหมือนง่ายมากเพราะมันมีปัจจัยหลักๆ แค่ 3 ปัจจัยคือ

1.Internet

เครื่องมือสำคัญสำหรับการค้นหาความรู้ ผมเองจะเขียนบทความนี้ก็อาศัย Internet นี่ล่ะครับ เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ดังนั้นทางสถาบันการศึกษาคงต้องสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาเข้าถึง Internet ได้ง่าย มากกว่ามอง Internet เป็นผู้ร้ายแล้วกลัวว่านักเรียนนักศึกษาจะใช้ Internet ไปในทางที่ไม่ดีเลยไม่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ในสถาบัน

2.ความคิดสร้างสรรค์

หลายๆ ท่านชอบพูดนะครับว่าเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ มันเป็นพรสวรรค์ไม่ใช่พรแสวงเรียนรู้กันไม่ได้ เพราะคิดกันแบบนี้เราถึงไม่สามารถสร้างอะไรใหม่ขึ้นมาได้ หลักสูตรการเรียนการสอนควรจะเปิดโอกาส ให้นักเรียนนักศึกษากล้าที่จะคิดนอกกรอบหรือต่อยอดจากตำรา

3.การปฏิสัมพันธ์กับสังคม

เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมและทำงานร่วมกันในสังคมได้ จุดนี้ไม่ใช่เพื่อความต้องการของตลาดแล้วนะครับ (สงสัยคราวหน้าต้องมาเขียนเรื่อง Marketing 4.0) ทางสถาบันการศึกษาเองควรมีกิจกรรมให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าร่วมเป็นประจำ มีการสนับสนุนการทำงานแบบเป็นกลุ่มมากกว่างานเดี่ยว

Education 4.0_03

ถ้าปัจจัยทั้ง 3 ข้อทำได้ดี Education 4.0 ก็จะสามารถสร้างและพัฒนาคน ให้สามารถค้นหาความรู้ต่างๆ มาปะติดปะต่อและประยุกต์เข้ากับงานที่ทำ สามารถต่อยอดและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ได้ มีเพื่อนฝูงมีคอนเนคชั่น ซึ่งทั้งหมดก็คือคุณสมบัติหลักๆ ของบุคลากรที่ตลาดแรงงานในยุค Industry 4.0 ต้องการ ผมก็ต้องขอฝากไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาในบ้านเราที่ตอนนี้มุ่งแต่จะตอบสนอง AEC ซึ่งผมก็คิดว่ามันก็สำคัญ แต่เราก็ต้องเตรียมพร้อมในเรื่องของ Industry 4.0 ด้วย ช่วยกันเปลี่ยนการเรียนการสอนในบ้านเรา จากระบบการท่องจำและการเคารพอาจารย์ โดยการที่ไม่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง มาเป็นระบบที่สอนให้น้องๆได้หัดคิด หัดทำ สามารถที่จะโต้ตอบด้วยเหตุผลกับอาจารย์ได้ แต่ก็ยังคงต้องมีกรอบให้เข้าใจถึงการอยู่ร่วมในสังคมด้วย น้องๆ จะได้มีโอกาสสร้างนวัตกรรมแข่งขันกับชาติอื่นๆ ได้มากกว่านี้ ซึ่งทางแอพพลิแคดเองก็มีความยินดีที่จะสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้น้องๆ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถความคิดสร้างสรรค์ อย่างเช่น กิจกรรมประกวดการออกแบบด้วย SolidWorks โดยติดตามรับข่าวสารได้ที่ Facebook fanpage: Solidworksthai

วิรัช ปัณฑ์ศิริโรจน์


Photo of author
WRITTEN BY

Ichikung