Article - ArchiCAD, Article Ci, Articles

BIM คืออะไร…ใช้ BIM แล้วดียังไง

BIM คือ Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับวงการงานสถาปัตยกรรม และการก่อสร้าง ที่เริ่มตั้งแต่การออกแบบอาคารไปจนถึงการก่อสร้าง BIM จะเป็นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาควบคุมกระบวนการต่างๆ ระบบจะสร้างแบบจำลองเสมือนของอาคารที่แม่นยำ แบบจำลองแบบดิจิทัล อย่างการออกแบบ การเขียนแบบ การคำนวณโครงสร้าง การประมาณราคา การจัดซื้อ รวมไปถึงการวางแผนงานต่างๆ ของอาคาร

“ด้วยเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) ระบบจะสร้างแบบจำลองเสมือนของอาคารที่แม่นยำอย่างน้อยหนึ่งแบบจำลองแบบดิจิทัล แบบจำลองเหล่านี้รองรับการออกแบบในแต่ละขั้น ซึ่งช่วยทำให้วิเคราะห์และควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากระบวนการที่ทำด้วยตนเอง เมื่อเสร็จสมบูรณ์ แบบจำลองที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะประกอบด้วยรูปทรงเรขาคณิตที่แม่นยำและข้อมูลที่จำเป็นในการรองรับกิจกรรมการก่อสร้าง การแปรรูป และการจัดซื้อจัดหาเพื่อให้การก่อสร้างบรรลุผล”

ที่มา : BIM คืออะไร , (Online)

BIM คือ กระบวนการการทำงาน (Process) ไม่ใช่ชื่อของ Software ซึ่งมีหลายบริษัททางด้าน Software ที่เป็นการทำงานระบบ BIM

ที่มา : แสดงภาพSoftwareด้านการออกแบบ

เป้าหมายของการใช้งานระบบ BIM เพื่อให้สามารถทำงานเป็นขั้นตอนต่างๆ ได้ โดยเริ่มจากการออกแบบการก่อสร้างอาคารทางด้านสถาปัตยกรรม เพื่อลดความผิดพลาดและการทำงานที่ซับซ้อนกัน อันเกิดจากการทำงานที่ไม่ต่อเนื่องและขาดการตรวจสอบ BIM จึงเป็นเทคโนโลยีอีกหนึ่งขั้นที่เพิ่มศักยภาพการทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้น และเป็นการทำงานที่สามารถจบครบวงจร (Live Cycle)

รูปภาพ : แสดงการถอดรายละเอียดของงานออกมา ด้วยโมเดลเพียงชิ้นเดียว

ทำไมต้อง BIM

บริษัทที่ใช้ BIM เช่น Skanska และ Barton Malow ได้รายงานถึงประโยชน์สำหรับการวางกำหนดการ การประเมิน และการวิเคราะห์ความเสี่ยง กระบวนการทำงานร่วมกันที่มากขึ้น และการจัดการอาคารที่ดียิ่งขึ้น BIM ยังให้โอกาสในการทดลองใช้โซลูชั่นล่วงหน้าก่อนที่จะสร้างโครงสร้างที่ไซต์งาน: คุณสามารถสร้างต้นแบบโครงสร้างเสมือนด้วยแบบจำลองที่ก่อสร้างได้จริง ฝ่ายต่างๆ ในโครงการสามารถทำความเข้าใจและตรวจทานการออกแบบได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยรับประกันความแม่นยำและความสมบูรณ์ของการออกแบบได้ รวมถึงแสดงให้เห็นเป็นภาพและประเมินทางเลือกต่างๆ ในด้านค่าใช้จ่ายและตัวแปรอื่นๆ ในโครงการ BIM ได้สั่งสมประสบการณ์เพื่อพัฒนาการสื่อสารระหว่างฝ่ายต่างๆ ในโครงการและคุณภาพโดยทั่วไปให้ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น

หลักการการทำงานของ BIM

การทำงานจะเป็นการทำงานผ่านเทคโนโลยีที่ Software ทำงานมาเพื่อรองรับระบบ BIM เน้นการทำงานแบบจำลองโมเดล โดยที่วัตถุภายระบบจะมีค่าพารามิเตอร์ (Parametric Object-Based) ซึ่งจะเก็บข้อมูล (Data) ต่างๆ ในรูปแบบของ 2 มิติ และ 3 มิติ ซึ่งการทำงานจะสามารถประมวลผลได้ทั้ง ผังพื้น รูปด้าน รูปตัด ทัศนียภาพ รวมถึงการถอดข้อมูลด้านการก่อสร้าง (BOQ) เมื่อไหร่ที่มีการเปลี่ยนแปลง ระบบต่างๆ จะปรับเปลี่ยนให้อัตโนมัติ

BIM Organization & Competency Map องค์ประกอบ และการประเมินความสามารถ
  • BIM Cloud: การทำงานผ่านระบบ Internet หรือเก็บข้อมูลไว้เป็น Cloud ทำให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องทำงานในสำนักงาน แต่สามารถทำงานผ่านระบบ Internet ด้วยการเชื่อมต่อกัน

ที่มา : การแสดงรูปแบบ BIMcloud Teamwork for Architects

  • BIM Coordinator: ตรวจสอบข้อมูลใน BIM และประสานงานในงานแต่ละระบบ (ARC, STR, MEP)
  • BIM Modeler/BIM Operator: สร้างแบบจำลองโมเดล
  • Component Object: สร้างแบบจำลองโมเดลส่วนประกอบของอาคาร ซึ่งสามารถ Download อุปกรณ์ต่างๆ (Object) ได้จากแหล่งเว็บไซต์ต่างๆ ของ BIM Object แหล่งรวบรวม Object

 

ที่มา : https://bimcomponents.com/      ที่มา : https://www.bimobject.com/en-us/product

  • Layout Drawing/Annotator/Sheet Creator: สร้างแบบ Worksheet
  • Schedule: ทำรายการประกอบแบบต่างๆ และถอดปริมาณวัสดุจากโมเดล

ที่มา: What is BIM, คุณนพพล อ่อนจาปี

ที่มา : แสดงรูปแบบการสร้าง Schedule ArchiCAD

BIM Cycle คือ การทำงานที่สามารถส่งผ่านจากฐานข้อมูล Information ภายในวัตถุไปยังการทำงานประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภายใน Software เดียว หรือส่งต่อไปยัง Software อื่นๆ ที่เป็นการทำงานระบบ BIM ซึ่งกระบวนการสามารถทำงานผ่านไฟล์กลางที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ IFC File ได้เหมือนกัน

ที่มา : แสดงรูปแบบการทำงานที่ส่งผ่านได้ด้วยระบบ BIM

ประโยชน์และจุดเด่นของเทคโนโลยี BIM

ปัจจุบันเทคโนโลยี BIM เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการออกแบบก่อสร้างมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก แทนที่การทำงานแบบเดิมที่เป็น 2 มิติ เข้าสู่การทำงานที่มากกว่า 3 มิติ ซึ่งมีจุดเด่น และข้อดีที่เป็นประโยชน์ต่อสถาปนิก, บริษัทออกแบบ, เจ้าของโครงการ, วิศวกร หรือผู้รับเหมามากมาย ได้แก่

  • เป็นเทคโนโลยีเพื่อใช้สำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมที่พัฒนาขึ้นสำหรับสถาปนิก และนักออกแบบ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมมากกว่าการใช้ซอฟต์แวร์ในลักษณะเดิมที่เน้นการเขียนแบบ และนำเสนอเพียงอย่างเดียว ทำให้ทั้งผู้ออกแบบ ผู้ร่วมงานตลอดจนลูกค้าสามารถสื่อสารได้เข้าใจกันง่ายขึ้นเพราะเห็นเป็น 3 มิติ แบบชัดเจน
  • เน้นลักษณะการสร้างชิ้นงานในแบบ 3 มิติ เป็นหลัก มีกลไกในการควบคุมขนาดและสัดส่วนต่างๆ ของวัตถุด้วยระบบพารามิเตอร์ โดยควบคุมการทำงานผ่านมุมมองต่างๆ ทั้งมุมมองที่เป็น 2 มิติ และ 3 มิติ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของวัตถุ ก็จะส่งผลถึงมุมมองอื่นๆ ทั้งหมด
  • สามารถนำส่งข้อมูลที่ตรงกัน เพื่อลดการขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน ลดข้อขัดแย้งของปัญหาแบบก่อสร้างไม่เป็นปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดพลาดในงานก่อสร้างได้ จึงช่วยให้สามารถลดระยะเวลาในการทำงาน และลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการก่อสร้างผิดแบบได้
  • สามารถใช้เทคโนโลยี BIM เข้าร่วมกับกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานด้านการออกแบบ โดยจะเห็นได้ชัดเจนจากการประมวลผลข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น การถอดแบบวัตถุ 3 มิติ ที่สร้างขึ้นเพื่อการประมาณราคา (Cost Estimate) ลำดับขั้นตอนต่างๆ ในงานก่อสร้าง (Phasing) เพื่อช่วยลดขั้นตอน และระยะเวลาในการทำงานให้สั้นลง
  • ลดการใช้ทรัพยากรบุคคล และค่าใช้จ่ายในการทำงานให้น้อยลง โดยนำความสามารถของคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการประมวลผลข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นให้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมของการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • ความสามารถในด้านการทำแบบก่อสร้าง รวมถึงแบบขยาย และรายละเอียดของส่วนต่างๆ ของอาคาร ความสามารถในการทำแบบก่อสร้างตามขั้นตอนของงานก่อสร้าง และความสามารถในการทำแบบก่อสร้างในรูปแบบของงานปรับปรุงอาคาร ลดเวลาในส่วนของการเขียนแบบไปได้อย่างน้อย 30% ทำให้โครงการก่อสร้างเสร็จเร็วกว่าเดิม
  • ทำงานได้มากขึ้น เร็วขึ้นด้วยทีมงานเท่าเดิมสร้างผลประกอบการที่ดี
  • ส่งเสริมการทำงานในรูปแบบของทีมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นไปในลักษณะการทำงานในแบบร่วมมือกัน และประสานความร่วมมือกันในการควบคุมงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นร่วมกันผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ผู้บริหารโครงการสามารถทำการกำหนดสมาชิกในทีม เพื่อเลือกกำหนดสิทธิและสัดส่วนความรับผิดชอบในส่วนต่างๆ ของอาคาร ชิ้นงานให้แก่ลูกทีมแต่ละคนได้ รวมถึงความสามารถในการรองรับโครงการออกแบบที่มีขนาดใหญ่ ที่มักมีหลายๆ อาคารก็สามารถทำการเชื่อมโยงไฟล์งานของชิ้นงานต่างๆ เข้าด้วยกันได้
  • การนำระบบ BIM มาใช้ในการจัดทำแบบรูปการก่อสร้าง (As-built Drawing) เป็นแบบที่แสดงรายละเอียดของงานที่ได้ทำการก่อสร้างจริง ภายหลังการส่งมอบงานให้กับเจ้าของโครงการจะได้รับโมเดล 3มิติ ที่เต็มไปด้วยข้อมูลและการจัดการ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้จัดการผู้ดูแลสิ่งก่อสร้างนั้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบ Facility Management (FM) ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นคู่มือในการบำรุงรักษาอาคาร หรือต่อเติมอาคาร (Renovate) ในอนาคต ตลอดจนใช้ในการบริหารจัดการ (Management) สิ่งก่อสร้างตลอดอายุการใช้งานของสิ่งก่อสร้าง

แชร์ประสบการณ์จากผู้ใช้เทคโนโลยี BIM

ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจด้านการออกแบบงานวิศวกรรมโครงสร้าง เช่น โครงสร้างอาคารต่างๆ และงานวิศวกรรมโยธา รวมถึงขยายบริการออกแบบวิศวกรรมงานระบบ (ระบบไฟฟ้า ปะปา ปรับอากาศ) เรียกได้ว่า ให้บริการออกแบบทางวิศวกรรมอย่างครบวงจร ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการเปลี่ยนระบบการทำงานมาใช้ BIM อย่างเต็มรูปแบบ

หลังจากที่ได้มีโอกาสใช้ ArchiCAD BIM ก็พบว่า BIM ได้เข้ามาช่วยให้การทำงานทั้งกระบวนการเป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคยแบบครบวงจรด้านงานก่อสร้าง ทั้งงานแบบ งานโครงสร้าง และงานระบบ เพื่อช่วยให้การออกแบบ ถอดแบบ ถอดปริมาณ (BOQ) การประมาณการงบประมาณเป็นเรื่องง่ายและถูกต้อง การปรับเปลี่ยนแก้ไขในแต่ละจุดสามารถอัพเดตข้อมูลไปยังทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำงาน และลดต้นทุนการดำเนินงาน

ผู้ที่จะใช้ BIM ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์ BIM เสียก่อน มากกว่าที่จะเรียนรู้ว่าโปรแกรม BIM ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งถ้าเราเข้าใจว่า BIM คืออะไร การเรียนรู้โปรแกรม BIM ก็จะใช้เวลาน้อยลง

ในการทำงานที่เกี่ยวกับ  BIM นั้น ให้เราลืม CAD ไปได้เลย แต่ต้องมองทุกอย่างเป็น 3 มิติ เพราะทุกครั้งที่เราแก้ไขงาน เช่น หน้าต่าง เราแก้ไขหน้าต่างจริงๆ ไม่ได้แก้ไขเส้น

BIM ไม่ใช่แค่โปรแกรมเขียนงาน 3 มิติ ยกตัวอย่างเช่น ขวดน้ำ ถ้าคุณอยากได้แค่เสนองานขวดน้ำ 3 มิติ คุณแค่ขึ้นโมเดล แต่สำหรับ BIM ใช่เพียงเท่านั้น สิ่งที่คุณจะได้ คือ “ข้อมูล” ของขวดน้ำ เช่น วัสดุอะไร ผลิตจากที่ไหน ตารางมิลละเท่าไร ฝาจากที่ไหน น้ำคุณภาพอะไร เพราะข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะต้องมีการส่งต่อออกไปเพื่อทำงานร่วมกับส่วนอื่น เป็นต้น

BIM ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ให้ออกแบบง่าย และรวดเร็วขึ้น ยังช่วยในด้านงานก่อสร้าง ทั้งงานแบบ งานโครงสร้าง งานระบบ สามารถถอดแบบ ถอดปริมาณ (BOQ) การประมาณราคาได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ เพื่อให้คุณมีความพร้อมที่จะแข่งขันในปัจจุบัน

ที่มา : BIM คืออะไร ทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์แล้วคุณจะเข้าใจ BIM

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ArchiCAD BIM

ทดลองใช้ BIM : https://bit.ly/3NKdvAz


Photo of author
WRITTEN BY

Frozen Whale

ยังมีอีกหลายอย่างที่รอเราเข้าไปค้นหา สิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี อย่าหยุดที่จะก้าว แต่จงก้าวต่อไปในทุกๆ วินาที เรียนรู้และอัปเดตอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ