Article Mi, Articles

6 แนวคิดเตรียมรับมือ การออกแบบและการผลิตในยุค Digital Disruption

6 แนวคิดเตรียมรับมือ การออกแบบและการผลิตในยุค Digital Disruption

6 แนวคิดเตรียมรับมือ การออกแบบและการผลิตในยุค Digital Disruption

6 แนวคิดเตรียมรับมือเป็นวิศวกรนักออกแบบ การผลิตในยุค Digital Disruption

เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบกระบวนการผลิตเข้าสู่การผลิตยุคใหม่ การผลิตในยุค Digital Disruption โดยการเริ่มนำเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการเดิม ซึ่งเป็นไปตามกลไกลการเปลี่ยนแปลงจากยุคสู่ยุค แน่นอนว่าเราไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า ทุกๆ สิ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในหลายอย่าง ยกตัวอย่าง เช่น สิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเราจะสังเกตว่าเมื่อเวลาผ่านไป หากเราไม่ได้ไปสถานที่คุ้นเคยจะรู้สึกว่าดูแปลกผิดตาไป เพราะเกิดสิ่งก่อสร้าง สิ่งใหม่เกิดขึ้นมา ซึ่งผู้เขียนจะขอหยิบยกคำพูด หรือ วลี ที่คุ้นหู อย่างเช่น วันเวลาไม่เคยรอใคร, วันเวลาไม่เคยไหลย้อนกลับ เมื่อฟังดูประโยคเหล่านี้อาจจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้แปลกใจ แต่สิ่งเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ที่ไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่า ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเราจะเกิดอะไรขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เราเองในฐานะที่ดำเนินสายอาชีพนักออกแบบ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักออกแบบทางด้านการออกแบบ ผลิตภัณฑ์ หรือทางด้านสายการผลิต ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นต้นน้ำแห่งสายธารการผลิต เราจะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันในยุคปัจจุบัน ใครเป็นผู้กุมข้อมูลความต้องการลูกค้าได้มาก ผู้นั้นย่อมได้เปรียบ และสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดทางธุรกิจได้หลากหลาย เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) เริ่มฝังมากับซอฟต์แวร์โปรแกรมบางประเภทเพื่อเก็บความสนใจ คำหรือข้อความที่ใช้ในการค้นหา ความถี่ของการเข้าค้นคว้าข้อมูล รวมถึงความสนใจเรื่องทั่วไป และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอการขายหรือบริการที่มาในรูปโฆษณาต่างๆ เพื่อหารายได้

Digital Transformation ถือเป็นการเข้ามาเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกๆ แวดวง ที่ครอบคลุมไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ที่เริ่มมีการนำ Robots เข้ามาช่วยในการผลิต ภาคการเงินการธนาคาร ที่ในปัจจุบัน เราแทบไม่จำเป็นต้องเข้าธนาคาร เพียงใช้ แอพพลิเคชั่น บนมือถือ Smartphone ก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ ตลาดการค้าขาย ออนไลน์ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเกิดเป็น New Normal ใหม่ขึ้นมา ตัวอย่างเหล่านี้ คือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราทั้งสิ้น

สำหรับนักออกแบบ ความสามารถในการใช้ซอฟต์แวร์ออกแบบที่เป็นแบบ 3D ถือเป็นทักษะอย่างนึงที่นักออกแบบจำเป็นจะต้องมี และบางงานค่อนข้างจะใช้เวลาในการออกแบบที่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้เวลานาน เมื่อต้องการโมเดลแบบงานเดิม แต่อยากให้มีขนาดที่เปลี่ยนไปตามความต้องการ ก็ต้องเสียเวลามานั่งเขียนกันใหม่อีก

6 แนวคิดเตรียมรับมือ การออกแบบและการผลิตในยุค Digital Disruption

ต่อไปจะไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับงานออกแบบบางประเภท เมื่อข้อมูลต่างๆ ถูกบรรจุลงในรูปของโมเดล 3D สำเร็จรูป เพียงแค่ป้อนขนาด ตามความต้องการลงในช่องการป้อนข้อมูลก็จะได้ แบบงานเพื่อการผลิตได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเขียนอีกต่อไป เช่น อยากออกแบบโต๊ะที่ไว้สำหรับใช้ทำงานในไลน์การผลิตเพื่อประกอบชิ้นงาน ซึ่งเคยมีแบบเก่าอยู่แล้ว แต่ขนาดที่ต้องการไม่เหมือนเดิม เราก็เพียงวางกำหนดเงื่อนไขไว้ตั้งแต่แรก เมื่อเรามาเปลี่ยนขนาดความกว้างยาวสูง ซอฟต์แวร์ก็จะทำการปรับขนาดให้โดยอัตโนมัติ โดยจุดไหนที่ต้องมีการเพิ่มหรือลดชิ้นส่วน หรือเพื่อจุดยึด ซอฟต์แวร์ก็จะจัดการให้แล้วเสร็จ จะเห็นได้ว่าด้านซอฟต์แวร์มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น นี้เป็นสิ่งที่พัฒนามาจากที่เคยเขียนออกแบบกันตั้งแต่ลงบนกระดาษ แล้วถ้าในอนาคตเทคโนโลยีการออกแบบพัฒนาไปถึงขั้นที่ ไม่จำเป็นต้องใช้คนเขียนแบบ 3D ล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น เป็นคำถามที่ชวนสงสัย แสดงว่าจำนวนหรือปริมาณนักออกแบบจะถูกลดปริมาณลง จากที่อดีต ทีมออกแบบตอนยุคที่ เราเขียนแบบด้วยมือ มีทีมงานเขียนแบบออกแบบกันเป็น 20-30 คน มายุคที่ ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบ ก็เริ่มจะลดเหลือ 5-10 คน สำหรับงานบางประเภทด้วยซ้ำ และถ้าเทคโนโลยีสามารถต่อยอดไปถึงขั้นไม่ต้องเขียนแบบ คิดเล่นๆดูว่า จะเหลือทีมออกแบบสักกี่คนดี แต่สิ่งที่กล่าวถึงนั้นอาจจะเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้น้อย

6 แนวคิดเตรียมรับมือ การออกแบบและการผลิตในยุค Digital Disruption

แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคต ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อใด แต่ก็มีส่วนที่ได้เกิดขึ้นและเป็นไปได้กับงานบางประเภทแล้ว อนาคตเราอาจไม่ต้องเขียนแบบอีกต่อไป แล้วเราจะทำอย่างไร จะตกงานกันไหม นั่นคือคำถามที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า แล้วเราวางแผนรับมือสำหรับเราเองกันไว้อย่างไร

ปัจจุบันข้อมูลรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเรารู้ความต้องการของผู้คนได้ เราก็จะสามารถออกแบบ เพื่อให้ตรงความต้องการนั้นได้ เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทักษะในงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ การเรียนรู้อยู่เสมอ การก้าวทันโลกเทคโนโลยี การปรับตัว การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การพัฒนาแบบต่อเนื่อง จึงถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เราลองมาวิเคราะห์กันดูว่า มีอะไรบ้าง ซึ่งจากประสบการณ์ และมุมมองของผู้เขียนพอ จะสรุปออกมาเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. การรู้ทักษะเดียว ไม่เพียงพอ

การออกแบบ คือ การถ่ายทอดความคิดหรือกระบวนการ ออกมาเป็นผลงาน ผ่านการวาดลงบนแผ่นกระดาษหรือเขียนผ่านซอฟต์แวร์ออกแบบ โดยจุดสำคัญของการออกแบบ คือ ต้องสามารถใช้กระบวนการที่ผลิตได้ง่าย สอดคล้องกับการลดต้นทุน ขนาดหรือวัสดุต้องเหมาะสม มีฟังก์ชั่นตรงตามความต้องการใช้งาน ดังนั้นนักออกแบบ จึงต้องมีทักษะความรู้ในหลายๆ ด้าน และทักษะความชำนาญที่จำเป็นที่สำคัญสิ่งหนึ่ง คือ ทักษะทางด้านการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อใช้สำหรับการออกแบบ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดหรือต่อยอดความคิดของวิศวกรออกแบบนั่นเอง และยังช่วยในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ของผลกระทบเมื่อนำไปใช้งาน เช่น การวิเคราะห์ความแข็งแรง การรับแรง หรือประเมินไปถึงอายุการใช้งาน อย่างเช่น งานออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เพื่อผลิตออกมาเป็นเครื่องจักร หรือชิ้นส่วน  JIG & Fixture เพื่อช่วยในการผลิต งานออกแบบทางด้านแม่พิมพ์ ทั้งที่เป็นแม่พิมพ์โลหะ และแม่พิมพ์พลาสติก ถือว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และนักออกแบบต้องมีความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำอย่างเชี่ยวชาญ แล้วยังต้องรู้ความต้องการของผู้บริโภค และสามารถสร้างการตอบสนองอย่างรวดเร็วมีคุณภาพ จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกว่าที่เราจะเป็นนักออกแบบอย่างมืออาชีพได้ และปัจจุบันการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เราเริ่มได้ยินจนคุ้นหู ก็อย่างเช่น Cloud, Big Data, AI, Machine Learning เป็นต้น หมายถึงว่า การผลิตหรือการทำงานในรูปแบบเดิมๆ จะถูกเปลี่ยนแปลงไป และมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ

จนเราเองแทบจะเรียนรู้กันไม่ทันเลยทีเดียว จากเดิมหากใครที่เป็นผู้ถนัดหรือเชี่ยวชาญ ในเรื่องใดๆ เพียงเรื่องเดียว ก็จะทำให้เฉิดฉาย แจ้งเกิดเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานนั้นๆ  แต่ในปัจจุบันการจะเป็นผู้ความรู้ความสามารถเพียงเรื่องเดียว กลับไม่ใช่เรื่องดีอีกต่อไป เพราะทุกอย่างถูกหลอมรวมด้วยเทคโนโลยี ที่ ดึงทุกอย่างให้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน การสื่อสารการรวมระบบ (System Integration) เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ งานบางอย่างที่เทคโลยีสามารถทำได้ก็จะถูกทดแทนที่

2. เวลาไม่เคยรอใคร

สิ่งหนึ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มักหลงลืม คือ เรื่องกาลเวลา ยิ่งเทคโลยีการสื่อสาร ติดต่อกันสะดวกมากยิ่งขึ้น เรามักจะจมอยู่ในโลกโซเชียลกันอย่างไม่ทันระวังตัว แต่หากเราใช้ในมุมเพื่อการต่อยอดความรู้ก็จะเป็นประโยชน์มากต่อการพัฒนาตนเอง เพราะความรู้หลายๆ สิ่ง หรืออาจจะพูดได้ว่าเกือบแทบจะทุกสิ่ง สามารถหาได้จากอินเตอร์เน็ต แต่ใช่ว่า รู้วิธีการเรียนรู้เหล่านั้นแล้ว จะทำได้ง่ายดาย มันเป็นเรื่องที่ยากมากพอสมควร ที่จะเอาชนะ สิ่งเร้าต่างๆ ได้

Social Facebook, Instagram, Netflix, twitter

อย่างเช่น Facebook, Instagram, Netflix, twitter สิ่งเหล่านี้ มักจะขโมยเวลาหรือสมาธิไปจากเรา เกือบจะเป็นส่วนมากด้วยซ้ำ หากเราบริหารเวลาได้ถูก และสามารถสร้างตารางเวลาสำหรับการเรียนรู้ ก็จะเป็นประโยชน์ ไม่น้อย คำแนะนำหลักๆ ที่อยากแนะนำ คือ ควรพัฒนาในเรื่องของภาษาเป็นสิ่งสำคัญหลักๆ ที่ต้องเน้นอย่างมาก เพราะในตอนนี้ โลกของการสื่อสารเปลี่ยนไป เราสามารถติดต่อสื่อสารทั่วโลกกันเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ดังนั้น การใช้ภาษาอังกฤษ ยังเป็นที่ยอมรับว่าเป็นภาษากลางของการสื่อสาร ทั่วโลก เราจะหยุดนิ่งเฉยไม่ได้เลย หากยังไม่เร่งปรับตัวพัฒนาตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเริ่มเข้ามาเต็มรูปแบบในบ้านเรามากขึ้น เราเองจะเริ่มปรับตัวไม่ทัน ดังนั้นควรเริ่มเตรียมพร้อมกันตั้งแต่เนิ่นๆ

3. เทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ

การเติบโตทางเทคโนโลยีมีความเติบโตไปอย่างรวดเร็ว จนแทบรู้สึกได้เลยว่าเรียนรู้ตามกันแทบไม่ทันกันเลยทีเดียว สังเกตง่ายๆ เลยกับสิ่งที่ใกล้ตัวมากที่สุด จะเห็นได้ว่า Smartphone มีรุ่นใหม่ๆ ออกมากันอย่างไม่ขาดสาย แต่เดิม 1 ปี จะออกรุ่นใหม่มาสักรุ่นนึง เริ่มมาเป็น 6 เดือน ลงมาเป็น 3 เดือน จนแทบจะออกมาใหม่กันมาแทบทุกเดือน ยิ่งรุ่นใหม่ออกมา ฟังก์ชั่นการใช้งานก็หลากหลายขึ้น ใช้งานง่ายขึ้นสะดวกมากยิ่งขึ้น ทำไมถึงยกตัวอย่าง Smartphone เพราะยุคนี้แทบทุกคน จะขาดสิ่งนี้ไม่ได้ การบริการต่างๆ จึงถูกออกแบบมาให้สอดคล้อง กับชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการเงิน การธนาคาร การใช้จ่ายต่างๆ อยากใช้บริการการสั่งอาหาร เป็นต้น แม้ในทางด้านอุตสาหกรรมก็มีการปรับตัวเช่นกัน จากเดิมการออกแบบ ต้องผลิตชิ้นงานต้นแบบออกมาก่อน ที่เรียกกันว่า Prototype การจะได้มาก็ต้องผ่านตั้งแต่การ ทำ Concept Design มาจนกระทั่งออกแบบชิ้นงานที่ เกือบจะได้เรียกว่า Final แล้วทำการผลิตชิ้นงานต้นแบบเพื่อมาทำการทดสอบ มีฟังก์ชั่นต่างๆ เพื่อการปรับปรุงหรือทำการแก้ไข ในจุดบกพร่อง หรือทดสอบเพื่อหาประสิทธิภาพทางการทำงาน  กว่าจะจบขั้นตอนก็ใช้เวลานานมากแบบเกือบข้ามปีกันเลยทีเดียว แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางด้านวิศกรรมมีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้น ซอฟต์แวร์ออกแบบก็ถูกพัฒนาไปให้มีฟังก์ชั่นตอบโจทย์ ด้านการส่งเสริมการทำงานที่รวดเร็ว มีความถูกต้องสมบูรณ์สูงขึ้น

Professional 3D Printer by AppliCAD

เราสามารถนำไฟล์งานออกแบบ ส่งเข้าเครื่อง 3D Printer เพื่อขึ้นรูปชิ้นงานได้เลย โดยที่สามารถเลือกวัสดุที่เป็นกลุ่มจำพวกพลาสติกหรือโลหะได้ตามประเภทและประสิทธิภาพของเครื่องและยังมีซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์แบบก่อนทำการผลิต ที่เรียกว่า CAE (Computer Aided Engineering ) ทำให้สามารถประเมินการออกแบบ และแก้ไขการออกแบบก่อนการผลิตจริง ช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายเพราะไม่ต้องผลิตจริงออกมาเพื่อทำการทดสอบ อีกทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจในการออกแบบได้อีกด้วย บางท่านอาจจะเคยทำการออกแบบโดยการ Design แบบ Over Spec คือ ให้มีชิ้นส่วนขนาดใหญ่ไว้ก่อน เพื่อป้องกันการรับ Load ที่อาจจะทำให้เกิดผลกระทบ แต่เมื่อมีการวิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ ก็จะช่วยให้เลือกใช้ ขนาดหรือวัสดุได้เหมาะสมกับงานมากขึ้น ตัวที่จะพูดถึงถัดมาก็ คือ ซอฟแวร์เครื่องมือที่ช่วยในการผลิตที่เราเรียกกันว่า CAM (Computer Aided Manufacturing) ทำหน้าที่ช่วยในการแปลงกระบวนการการผลิตหลังการออกแบบ ให้เป็นภาษาที่เครื่องจักรรับรู้หรือที่เรียกว่า G-Code เพื่อใช้ในการสั่งงานเครื่องจักรเพื่อการผลิต ในการออกแบบเป็นไฟล์ 3D สามารถต่อยอดไปยังเครื่องตรวจสอบขนาดชิ้นงานอย่างเช่น 3D Scanner อย่าง GOM Inspect Professional หรือ เครื่อง CMM ได้โดยอัตโนมัติ และนำไปใช้ต่อยอดในเรื่องการนำเสนองานให้มีความน่าสนใจ สื่อสารได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น AR หรือ VR ได้อีกด้วย

4. การรับรู้และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว

เมื่อเอ่ยคำว่าการเปลี่ยนแปลง หลายคนอาจจะไม่ชอบคำนี้ รู้สึกว่า อยู่แบบเดิมๆ ดูปลอดภัยสบายใจกว่า หรือที่เรียกว่า Comfort Zone แต่กระนั้นถึงแม้ว่าเราจะไม่อยากเปลี่ยนอะไรเลย อย่าลืมว่าสิ่งรอบข้างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หากเราสังเกตการเปลี่ยนแปลงจะรู้ว่าบางอย่างเป็นไปในทางที่ดีขึ้น หรืออาจจะแย่ลงก็ได้ จะเห็นได้ว่าบางองค์การณ์มีการปรับรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง โดยส่วนมากเน้นไปทางการยกระดับการผลิต โดยหันมาใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาช่วยทำการผลิต เพราะต้องการตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นของผู้บริโภค และแน่นอนว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหันมาใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ ผลที่จะตกกระทบมากที่สุด คือ ทางด้านแรงงานที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสม โดยหันมาใช้แรงงงานที่มีทักษะมากขึ้น และเป็นไปตามกลไกทางด้านอุตสาหกรรม หากเรายังเพิกเฉยไม่ได้มีการเตรียมการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงเวลาที่ต้องปรับตัวอาจจะทำให้ไม่เกิดความพร้อม และท้ายสุดเมื่อองค์กรเติบโตขึ้น หรืออยู่ในขั้นที่มีการปรับโครงสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับยุคที่ มีการ Upgrade กันในด้านเทคโนโลยี

การรับรู้และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว

วิศวกรนักออกแบบเองก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบหรือพฤติกรรมไปด้วยเช่นกัน อาจจะมีงานลักษณะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น หน้าที่ความรับผิดชอบเดิมๆ อาจเปลี่ยนไป ทำงานแข่งกับเวลามากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้นนั่นเอง ในส่วนงานที่ต้องรับผิดชอบมีมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรม เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในโรงงานอุตสาหกรรมมีการมุ่งเน้นการทำ Improvement หรือที่เรียกว่า การปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ แต่เมื่อเราทำไปจนถึงยุคที่เป็นการเปลี่ยนทางด้าน เทคโนโลยี  Digital Transformation การปรับปรุงก็จะเริ่มมาสู่เป็นการเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้จะกระจายวงกว้างไปสู่ทุกอุตสาหกรรม ทุกรูปแบบ รวมไปถึงวงการของการศึกษาด้วยเช่นกัน

5. นวัตกรรม คือ สิ่งที่โลกต้องการ

“นวัตกรรม” หมายถึงความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วย ประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย (อ้างอิงจาก https://sites.google.com/site/ajthanadol/nwatkrrm/khwam-hmay-khxng-nwatkrrm )

วิศวกรนักออกแบบ เป็นทั้งนักคิดนักสร้างให้เกิดนวัตกรรม รวมถึงประดิษฐสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา รูปแบบความต้องการสินค้าที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป ผู้คนต้องการสิ่งแปลกใหม่ สิ่งที่สามารถตอบโจทย์ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับทุกๆ ด้านของการใช้ชีวิต หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ทำให้อายุของ Product มีความสั้นลง ความถี่ที่ต้องมีสินค้าและบริการรูปแบบเกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ นักออกแบบอาจจะต้องเจอโจทย์ที่ยากขึ้น เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า และการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีเพื่ออนาคตกำลังถูกปล่อยออกมาสู่ตลาดมากขึ้น อย่างที่เราจะเห็นเรื่องการเปลี่ยนจากรถยนต์ที่เป็นพลังงานเครื่องยนต์มาใช้ระบบไฟฟ้า โดยใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนแทน ที่เรียกว่า EV ( Electric Vehicle ) และก้าวขั้นไปถึงระบบที่รถยนต์สามารถขับเคลื่อนเองได้ อย่างเช่น ระบบ Autopilot  ของ Tesla  หรือ Co-Pilot ของ BMW

ระบบ Autopilot ของ Tesla หรือ Co-Pilot ของ BMW

หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบ Transportation ที่เปลี่ยนไปอย่าง Hyperloop ที่ใช้การเดินทางในท่อสูญญากาศ ลดการเดินทางขนส่งจาก 2 ชั่วโมง เหลือแค่ 12 นาที ซึ่งในโปรเจคตั้งต้นจะออกแบบมาเพื่อการขนส่งสินค้า หากระบบมีความเสถียรมากขึ้น ก็จะปรับมาใช้เพื่อการเดินทาง เห็นไหมล่ะว่า เทคโนโลยีพัฒนาก้าวล้ำไปได้เร็วมาก อนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นสิ่งเรานี้อยู่ทั่วจนชินตา และแน่นอนว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แทบจะมีให้อัพเดทกันทุกวัน นั่นหมายความว่า ความต้องการ ในเรื่องของการพัฒนา นวัตกรรมมีความต้องการที่สูงขึ้นตามไปด้วย คุณเองผู้ซึ่งเป็นนักออกแบบ คงต้องตระหนัก มากขึ้นว่าไม่เพียงโจทย์เรื่อง นวัตกรรมที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีคู่แข่งที่หาโอกาสพัฒนาต่อยอดให้เกิดสิ่งใหม่ มาทดแทนสิ่งเก่าอยู่เสมอ เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าเป็นการแย่งตลาดการค้ากันนั่นเอง

6. ความสำเร็จในปัจจุบัน ไม่ได้การันตีความยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม ที่มาถึงในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลายๆ องค์กรที่เรียกว่า Digital Disruption ซึ่งส่งผลให้กระทบต่อธุรกิจหลายๆ อย่างทำให้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง สาเหตุจากการที่มีเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ อยู่เสมอหากธุรกิจ หรือองค์กรใดยังดำเนินการธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่ปรับตัว ก็อาจจะเกิดคู่แข่งที่น่ากลัวขึ้นมาได้ รวมไปถึงทุกๆ คนในองค์กรเช่นเดียวกัน

NOKIA

ยกตัวอย่างเช่น NOKIA ที่เป็นแบรนด์ที่เคยโด่งดังมากสุดในยุค 90 ไม่ว่าจะวัยไหนในยุคนั้น ต่างรู้จักและเคยมีโอกาสเป็นเจ้าของมือถือแบรนด์นี้แทบทั้งนั้น แต่เมื่อมีค่ายอื่นๆ สามารถสร้างสิ่งที่ดีกว่าออกมาได้ถูกอกถูกใจ ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากกว่า ก็ไม่แปลกใจที่ยักษ์ใหญ่อาจจะต้องยอมสยบ แต่ถึงอย่างไร NOKIA เองก็ยังไม่ยอมพ่ายแพ้ ยังพยายามต่อสู้เพื่อกลับมายืนหยัดอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถดึงความเป็นหนึ่งกลับคืนไปได้ และก็มีอีกหลายๆ องค์กรที่มีการเดินออกจากตลาดหรือเปลี่ยนวิถีไปทำอุตสาหกรรมทางด้านอื่นแทน

ยกตัวอย่าง เช่น คู่แข่งแบรนด์ใหญ่ 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง Kodak และ Fujifilm ที่เจอ Disruption เหมือนกัน

Kodak และ Fujifilm

แต่มีความต่างกันที่ Fujifilm ผันตัวเองไปขยายตลาดในธุรกิจอื่น คือ เครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ Astalift ในขณะที่ Kodak นั้นเกิดการล้มละลาย จะเห็นได้ว่าความสำเร็จนั้นไม่จีรังตลอดไป หากนำบทเรียนจากเรื่องเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับตัวเราเอง หมายความว่า เมื่อทุกอย่างถูกบังคับให้เปลี่ยน จากการ Disruption แน่นอนว่า เราเองแม้จะมองว่าอยู่ในสถานะที่มีความรู้สึกว่ามั่นคงปลอดภัย อาจจะไม่ใช่เสมอไป หากองค์กรมีการ Disrupt แน่นอนว่ากระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ต่อเราอย่างแน่นอน

บทความนี้ถือว่าเป็นบทความแรกที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นมาเพื่อแชร์มุมมอง แนวคิดและประสบการณ์จากที่เคยอยู่ในแวดวงของอุตสาหกรรมการผลิต และผ่านประสบการณ์ เหตุการณ์ของการเปลี่ยนแปลง ต่างๆ ที่เคยได้สัมผัสพบเจอมา จึงตั้งใจกลั่นกรองเพื่อจะถ่ายทอดออกมาให้เพื่อนๆ หรือน้องๆ รุ่นไหม่ ได้ เก็บไว้เป็นข้อมูลในการเตรียมการรับมือ หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเราจริง จะได้พร้อมที่จะสามารถ ปรับตัวได้ทัน หรือมีแผนสำรองที่จะเดินต่อในสายอาชีพที่เรารักต่อไปได้นั่นเอง และยังคงที่จะมีฉบับต่อไป ที่จะมีโอกาสได้แชร์มุมมองต่างๆ หากเพื่อนๆเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็รอเจอกันฉบับหน้านะครับ

ผู้เขียนและเรียบเรียง : สุวัฒน์ จานแก้ว


Photo of author
WRITTEN BY

Frozen Whale

ยังมีอีกหลายอย่างที่รอเราเข้าไปค้นหา สิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี อย่าหยุดที่จะก้าว แต่จงก้าวต่อไปในทุกๆ วินาที เรียนรู้และอัปเดตอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ