Articles

ข้อควรระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
ข้อควรระวัง การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ มีโทษทั้งปรับ ทั้งจำ คุณควรรู้ก่อนภัยถึงตัว 

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

โทษของ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ …คุณกำลังกระทำผิดอยู่หรือเปล่า

  • หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังดูซีรี่ส์ หรือดูหนังจาก DVD Copy หรือจากทางเว็บไซต์
  • หากซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ของคุณเป็น ซอฟต์แวร์เถื่อน หรือ Crack Version

…คุณอาจจะเป็นผู้หนึ่งที่กำลังละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว…

ความนิยมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามจากภาครัฐ ในการปราบปรามอย่างหนักแล้วก็ตาม สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการปลอมแปลงสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงหรือแทบจะเหมือนของจริงมากขึ้น

อันที่จริง ลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง โดยให้เจ้าของลิชสิทธิ์ถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ที่ตนได้กระทำขึ้น

ในประเทศไทยการกำหนดลิขสิทธิ์ได้ปรากฏครั้งแรกราว พ.ศ.2445 ในรัชกาลที่ 5 เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม (Literacy) เรื่อง “วัชิรญาณวิเศษ” ต่อมาในปีพ.ศ.2474 สมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมงานอื่นๆ อีก เช่น งานคิดค้นทางวิทยาศาสตร์และผลงานของชาวต่างชาติ แต่กฎหมายฉบับนี้มีบทลงโทษในสถานเบา ในปีพ.ศ.2521 ได้เพิ่มงานสื่อภาพ เสียง และวีดีโอให้ครอบคลุมส่วนของกฎหมาย จากนั้นอีก 15 ปี คือ พ.ศ.2534 รัฐบาลได้ประกาศขยายความครอบคลุมงานด้านวรรณกรรม ที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ การนำไปเผยแพร่และการให้เช่า งานด้านสื่อภาพ เสียง (Visual – Sound – Video) พระราชบัญญัติฉบับนี้เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 21 มีนาคม 2538 ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลของกรมลิขสิทธิ์ทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (Department of Intellectual Property – DIP)

โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

 

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์โดยทั่วไปมี 5 ลักษณะ ได้แก่

  1. การละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้ใช้งานในองค์กร (End-user Copy)

เกิดจากการที่องค์กรธุรกิจทำสำเนาซอฟต์แวร์โดยผู้ใช้งานและไม่ได้รับอนุญาต การทำสำเนาแจกจ่ายระหว่างผู้ใช้งานแม้ว่าจะเป็นการทำสำเนาจากซอฟต์แวร์ต้นฉบับของแท้ ก็จัดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ประเภทหนึ่ง

  1. การใช้งานจำนวนมากในเครือข่าย

เนื่องจากมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ และมีผู้ใช้จำนวนมากในเครือข่ายเข้าใช้ซอฟต์แวร์ชุดเดียวที่ส่วนกลางพร้อมกัน หรือการใช้งานซอฟต์แวร์มากกว่าจำนวนที่ได้รับสิทธิ การกระทำเช่นนี้มิเพียงแต่เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเท่านั้น หากแต่ยังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส และความเสียหายของข้อมูล ฯลฯ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายอันประเมินค่ามิได้ต่อธุรกิจของท่าน

  1. การละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเตอร์เน็ต (Internet Piracy)

การละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านอินเตอร์เน็ตถือเป็นเรื่องคุกคามการค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญที่สุด แม้จะมีผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ผ่านอินเตอร์เน็ตอย่างถูกต้องก็ตาม แต่ก็มีการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมากเช่นกัน ได้แก่

  • เว็บไซต์ที่เปิดให้ดาวน์โหลดหรือแลกเปลี่ยนซอฟต์แวร์ทางการค้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  • เว็บไซต์ที่เสนอการประมูลซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย, ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือซอฟต์แวร์ที่ไม่ตรงกับช่องทางจำหน่ายที่กำหนด
  • เครือข่ายแบบ Peer-to-Peer ที่อนุญาตให้แลกเปลี่ยนซอฟต์แวร์มีลิขสิทธิ์ระหว่างกัน
  1. การติดตั้งซอฟต์แวร์ลงในฮาร์ดดิสก์ (Harddisk Loading)

เกิดจากการที่ผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์ทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ให้กับลูกค้าอย่างผิดกฎหมาย เพื่อจูงใจให้เกิดการซื้อ

  1. การสำเนาซอฟต์แวร์อย่างผิดกฎหมาย (Counterfeiting)

คือ การทำสำเนาอย่างผิดกฎหมาย หรือจำหน่ายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์โดยเจตนา สำหรับกรณีของซอฟต์แวร์ที่มีบรรจุภัณฑ์นั้นพบว่า ได้มีการจำหน่ายซีดีหรือดิสเก็ตต์ที่ทำสำเนาอย่างผิดกฎหมายพร้อมด้วยคู่มือ, สัญญาการใช้งาน, ฉลาก และบัตรลงทะเบียนโดยมีบรรจุภัณฑ์และคุณสมบัติป้องกันการปลอมแปลงที่เหมือนกับผลิตภัณฑ์ของแท้ให้เห็นเช่นกัน

 โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

 

ทำไมเราควรให้ความใส่ใจ?

ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายถึง คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือให้ได้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด ได้รับความคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ (ปี 2558 ฉบับที่ 2) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 โดยกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาที่รับรองจัดการเรื่องต่างๆ ได้อย่างชัดเจน รวมถึงมีการคุ้มครอง การเพิ่มบทกำหนดโทษมากกว่า พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับปี พ.ศ. 2537 ที่ใช้มากว่า 20 ปี และยังมีการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานต่างๆ บนโลกออนไลน์ได้อย่างครอบคลุมด้วย ทั้งนี้หากคุณติดตั้งซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย หรือทำซ้ำซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับอนุญาต คุณอาจเสี่ยงต่อ (การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์)

  • การเสียเวลา
  • การสูญเสียเงิน
  • การสูญเสียความน่าเชื่อถือ
  • การสูญเสียธุรกิจ

และนอกจากนั้น คุณอาจมีความผิดทางกฎหมาย ต้องโทษปรับหรือจำคุกด้วย

โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

 

การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง : คือ ในกรณีที่บุคคลใดทำซ้ำ คัดลอก ดัดแปลง เผยแพร่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่อสาธารณชน รวมทั้งการนำต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวออกให้เช่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ บุคคลนั้นจะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และหากเป็นการกระทำเพื่อหวังผลกำไร-เป็นการค้า จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม :  คือ หากผู้ใดรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น แต่ยังนำไปกระทำทางการค้า มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ เผยแพร่ต่อสาธารณชน แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และนำเข้าหรือสั่งเข้ามาในประเทศไทยเพื่อหากำไร ก็มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท และหากเป็นการกระทำเพื่อหวังผลกำไร-เป็นการค้า ผู้นั้นจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับนี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนด 5 ปี กระทำความผิดต่อ พ.ร.บ. นี้อีก จะต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

กรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์นี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า มิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

ค่าปรับที่ได้มีการชำระตามคำพิพากษานั้น ครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ดีการได้รับค่าปรับดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งสำหรับส่วนที่เกินจำนวนเงินค่าปรับที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับไว้แล้วนั้น

สิทธิตามกฎหมาย

ภายใต้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ได้ให้ความคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยให้สิทธิแก่ผู้สร้างสรรค์เพียงผู้เดียวในงานที่มีลิขสิทธิ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้

  • สิทธิในการสำเนาทั้งหมดหรือบางส่วนของโปรแกรม
  • สิทธิในการดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงโปรแกรม
  • จดสิทธิในการเผยแพร่งานต่อสาธารณชน
  • สิทธิในการให้ผู้อื่นเช่าโปรแกรม

นั่นหมายความว่า คุณสามารถสำเนา, ดัดแปลง หรือเช่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้หากเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาต โดยอยู่ในรูปของการให้สิทธิในการใช้งาน (License) ดังนั้น ทุกครั้งที่คุณซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างถูกกฎหมาย คุณจะได้รับสัญญาสิทธิการใช้งาน (License Agreement) ซึ่งจะระบุสิทธิที่คุณได้รับเพื่อการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น หากคุณกระทำสิ่งที่สัญญาไม่อนุญาต หรือขัดต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์จะถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและต้องรับโทษ

โทษของ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

 

เราสามารถหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายได้อย่างไร?

อย่างไรก็ตาม คุณจะไม่ทำผิดกฎหมายหรือละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ไม่ติดตั้งและใช้ซอฟต์แวร์เดียวกันบนคอมพิวเตอร์หลายเครื่องพร้อมกัน (คำแนะนำนี้อาจไม่เหมาะกับสิทธิการใช้ที่อนุญาตผู้ใช้หลายคน)
  • ทำสำเนาเพียง 1 ชุด เพื่อจุดประสงค์ในการสำรองซอฟต์แวร์เท่านั้น
  • ไม่ติดตั้งซอฟต์แวร์ไว้ที่เซิร์ฟเวอร์
  • ไม่ให้ผู้อื่นยืมซอฟต์แวร์ของคุณไปใช้

สิทธิ และลักษณะการใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่อนุญาตต่อผู้ใช้จะถูกระบุไว้ในสัญญาการใช้งาน ดังนั้น คุณควรอ่านสัญญาการใช้งานเสมอ เพื่อให้ทราบถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขในการใช้ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละผลิตภัณฑ์ หากไม่แน่ใจ กรุณาสอบถามจากผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ หรือให้ แอพพลิแคด เป็นที่ปรึกษาและดูแลคุณ

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะเผชิญกับภัยและความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรธุรกิจ ข้อมูลปี 2559 จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกโจมตีบนโลกไซเบอร์ เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย ในปีที่ผ่านมามีการโจมตีมากถึง 4,300 เหตุการณ์ โดยร้อยละ 35 ถูกกระทำจากซอฟต์แวร์ประสงค์ร้าย หรือ Malicious Software ร้อยละ 26 เป็นเรื่องการหลอกให้โอนหรือชำระเงิน และร้อยละ 23 เป็นเรื่องการเจาะเข้าสู่เครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต

โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

 

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) รายงานผลการบุกจับและดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและผิดกฎหมาย พบเพิ่มขึ้นจากปี 2558  ร้อยละ 20 ในครึ่งแรกของปี 2559

และหนึ่งในอันตรายที่รุนแรงที่สุดจากการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายก็คือ อันตรายต่อข้อมูลที่มีค่าของคุณ เนื่องจากซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายมักมีไวรัส หรือไฟล์ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีโอกาสทำให้ระบบขององค์กรหยุดทำงาน และสิ่งสำคัญที่ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายไม่มีให้กับผู้ใช้คือ เอกสารประกอบฉบับจริง, การสนับสนุนทางเทคนิค, การอัพเกรดซอฟต์แวร์, การรับประกันคุณภาพ และบริการหลังการขาย คุณจึงไม่สามารถวางใจต่อประสิทธิภาพการทำงานของซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย และยังเป็นสิ่งที่บั่นทอนประสิทธิผลในทุกๆ ด้านที่องค์กรของคุณได้ลงทุนไป ดังนั้น วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและปลอดภัย ตลอดจนหลีกเลี่ยงปัญหาดังที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือ ซื้อและใช้แต่ซอฟต์แวร์ของแท้เท่านั้น

ข้อมูลและภาพประกอบ :
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์(BSA), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(ETDA), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บทความ: Wilaiphan S.

5 สิ่งที่ไม่ควรพลาด งบน้อย ลงทุนซื้อ CAD อะไรดี ในช่วงวิกฤต
SOLIDWORKS 3D CAD ทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับการทำงานในยุค Digital 4.0

Photo of author
WRITTEN BY

Frozen Whale

ยังมีอีกหลายอย่างที่รอเราเข้าไปค้นหา สิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี อย่าหยุดที่จะก้าว แต่จงก้าวต่อไปในทุกๆ วินาที เรียนรู้และอัปเดตอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ