ทำอย่างไรล่ะไม่ให้ โดนจับลิขสิทธิ์ AutoCAD, SOLIDWORKS หรือซอฟต์แวร์อื่นๆ ??
เชื่อว่าหลายท่านต้องเคยพบหรือเคยได้ยินปัญหา โดนจับลิขสิทธิ์ AutoCAD หรือซอฟต์แวร์อื่นๆ แต่อาจจะยังไม่มีแนวทาง หรือประสบการณ์ในการรับมือ และแก้ไข บทความนี้ได้รวบรวมข้อสงสัย และแนวทางการปฏิบัติว่าควรทำอย่างไร โดยรวบรวม 5 ข้อควรรู้เรื่องซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ให้เข้าใจง่ายๆ อ่านบทความ ข้อควรระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
5 ข้อควรรู้เรื่องซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ (AutoCAD เถื่อน, SOLIDWORKS เถื่อน)
1. กระบวนการตรวจสอบซอฟต์แวร์เถื่อน
แบบปกติ
จะส่งจดหมายเพื่อให้นำส่งเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อ หรือการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อย่างเช่น ถ้ามีการ โดนจับลิขสิทธิ์ AutoCAD , SOLIDWORKS ถ้าชี้แจงไม่ได้ หรือมีไม่ครบ ทางบริษัทที่ได้รับจดหมายมักรีบดำเนินการสั่งซื้อให้ถูกต้อง
โดน Lock เป้า
มีคนแจ้งการละเมิดลิขสิทธิ์พร้อมหลักฐานที่เชื่อได้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์จริง
เมื่อตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น สำนักกฏหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอเข้าตรวจค้นพร้อมหมายศาลแล้ว เราจะไม่สามารถเคลื่อนย้าย ทำลาย คอมพิวเตอร์ได้
การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
- ตรวจสอบการติดตั้งซอฟต์แวร์ในเครื่อง กี่ซอฟต์แวร์ กี่รุ่น กี่ปี (บางเครื่องซอฟต์แวร์ชนิดเดียวกัน แต่ติดตั้งหลายรุ่น) รวมถึง File งาน ที่อยู่ในเครื่องด้วย เจ้าหน้าที่จะสามารถสืบทราบได้ว่า File ถูกสร้างขึ้น จาก Software ใด พร้อมเป็นหลักฐานในการก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งมีผลกับการประเมิน ค่าปรับต่อไป
- เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบ และติด Sticker ไล่ไปทีละเครื่องจนครบทุกเครื่อง
- ทำบันทึกการตรวจสอบ และให้ลงลายมือชื่อ (ผู้ที่มีอำนาจขององค์กรนั้นๆ)
- หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะทำหนังสือแจ้งมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วย
– ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการละเมิดลิขสิทธิ์
– ค่าดำเนินการทางกฏหมาย (ประมาณ 300,000)
– ค่าใช้จ่ายในการขอเข้าตรวจสอบอีกครั้ง ภายในสองปี (ประมาณ 20,000 – 40,000 ต่อครั้ง)
– ค่าใช้จ่ายในการลงประกาศหนังสือพิมพ์ภาษาไทย และภาษอังกฤษ เพื่อสนับสนุนให้ใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ (ประมาณ 200,000 บาท)
ช่องทางที่ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เค้าสามารถสืบรู้ได้ มีดังนี้
1. เจ้าของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาสามารถพัฒนาระบบบางอย่างไว้ในซอฟต์แวร์ เพื่อทำให้ทราบข้อมูลการใช้งาน
2. ข้อมูลของบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ซอฟต์แวร์ แต่ไม่มีประวัติการซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์เลยเป็นเบาะแสที่ชัดเจน
3. คนภายในที่ทราบข้อมูล และแจ้งไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหวังรางวัลนำจับ
หากเราสังเกตุช่วงที่ติดตั้งโปรแกรมต่างๆ จะมี License Agreement ให้ได้อ่านก่อนการติดตั้ง ซึ่งโดยทั่วไปเราจะแค่กด Accept หรือ OK แล้วข้ามไปเลย เพื่อให้สามารถติดตั้งได้สำเร็จ อีกทั้งข้อความเป็นภาษาอังกฤษ และยังมีศัพท์เฉพาะทางที่แปลยาก ซึ่งในจุดนี้ คือ ข้อตกลงในการให้ใช้ลิขสิทธิ์
กรณีตัวอย่างที่มักพบการละเมิดการใช้งาน
ตัวอย่างแรก ซื้อ 1 เครื่องเพื่อกันเหนียว แต่สามารถใช้มากกว่านั้นได้ไหม ซึ่งเกือบทุกๆ ซอฟต์แวร์เป็นเหมือนกันหมด คือซื้อ 1 License มีสิทธิ์ใช้ได้เพียง 1 เครื่องเท่านั้น จะมีกรณีคาบเกี่ยวก็คือเราต้องการจะย้ายเครื่อง หรือกรณีที่เครื่องเสียต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่ (Transfer License)
ตัวอย่างที่สอง ใช้ระบบ Thin Client ลงซอฟต์แวร์เพียง 1 License ที่เครื่องหลัก (Host PC) แต่ติดตั้งเครื่องที่เชื่อมต่อด้วยให้สามารถใช้งานได้หลายๆ คน ถ้าพูดถึงกรณีนี้ก็ค่อนข้างคลุมเครือ แต่ก็ถือว่าผิดข้อตกลง
ตัวอย่างที่สาม ซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ซึ่งประเทศผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ เช่น ประเทศอเมริการาคาซอฟต์แวร์จะถูกกว่า ในเงื่อนไขระบุไว้ว่าต้องลงทุนในพื้นที่ที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ในกรณีที่ซื้อจากต่างประเทศมาใช้เมืองไทยก็จะเป็นแบบ Global License ราคาจะแพงกว่า (ราคาเป็น 2 เท่า โดยประมาณ)
สิ่งสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราควรพิจารณา คือ เมื่อเราซื้อกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศ ก็จะได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ (Technical Support), มีการอบรม และบริการหลังการขาย ซึ่งคุ้มกว่า
2. ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยหรือข้ออ้าง เมื่อถูกตรวจสอบการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์
1.บริษัทเราเล็กหรืออยู่ห่างไกลคงไม่โดนหรอก
2.ซอฟต์แวร์ของแท้ราคาแพงบริษัทผมเล็กแค่นี้จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ
3.ไม่รู้ ตอนซื้อคอมพิวเตอร์มาทางร้านก็ลงมาให้แบบนี้เลย
4.พนักงานหามาลงเองตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้อย่างนี้บริษัทผิดด้วยหรือ
5.พนักงานใช้เครื่องส่วนตัวบริษัทต้องรับผิดชอบด้วยหรือ
6.ใช้ของถูกลิขสิทธิ์มี SN (Serial Number) ถูกต้องแต่ใช้ผิดประเภทก็ถือว่าผิดด้วยหรือ
7.ซอฟต์แวร์ก็แพงทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูง ผมจะไปแข่งกับคนอื่นได้อย่างไร
3. ช่องโหว่ของการละเมิดลิขสิทธิ์
1.ไม่มีเจ้าหน้าที่ IT ประจำบริษัท ผู้ใช้งานติดตั้งซอฟต์แวร์ด้วยตนเอง
2.ไม่มีระบบบริหารจัดการควบคุมทางด้าน IT เช่น การควบคุมการเข้าถึง Internet หรือจำกัดสิทธิ์การติดตั้งซอฟต์แวร์
3.ไม่มีความรู้ หรือไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบการติดตั้งซอฟต์แวร์ภายในเครื่อง ถึงแม้จะ Uninstall ไปแล้ว
4.ขาดกระบวนการตรวจสอบการติดตั้งซอฟต์แวร์อย่างเป็นระบบ และสม่ำเสมอ
5.ไม่อ่านข้อตกลงการใช้งาน (EULA) ของซอฟต์แวร์ที่สั่งซื้ออย่างละเอียด
4. โดนจดหมายเตือนมาจะรับมืออย่างไร
1. สำรวจเขา หมายถึง สำรวจแหล่งที่มาของจดหมาย E-mail หรือการโทรเข้ามา
1.1 เป็น BSA จริงหรือไม่
1.2 มีข้อมูลติดต่อกลับที่ครบถ้วนน่าเชื่อถือหรือไม่
2. สำรวจเรา ให้สำรวจไปทีละข้อดังนี้
2.1 หาเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อ Invoice Certificate SN
2.2 มีติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
2.3 นำคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในบริษัทมาตรวจสอบ ถ้ามีติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ให้ทำดังนี้
> Backup ข้อมูลงานทั้งหมด
> เช็คความจำเป็น หากมีความจำเป็นควรตั้งงบประมาณในการสั่งซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ทันที
เวลาเขาส่งจดหมายมาถือว่ามีความผิดหรือยัง เขาจะมาตรวจจริงหรือเปล่า เราควรจะตอบจดหมายเขาหรือไม่ ??
จดหมายเตือน ถ้าได้รับควรระวังไว้ได้เลยเพราะเค้าต้องมีหลักฐานมากพอที่จะเอาผิดเราได้ ถ้าถามว่าผิดหรือยัง หลักฐานสามารถนำไปสู่กระบวนการได้ถือว่าเป็นเบาะแสที่มีน้ำหนัก แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการในการเจรจา โดยมีข้อสรุปคร่าวๆ ดังนี้
- Verified เข้าไปตรวจสอบข้อมูลภายใน ว่าเป็นแบบที่เค้ากล่าวอ้างไว้หรือไม่
- Settlement เป็นการตกลงกัน จากความผิดในอดีตเราอาจจะใช้ของเค้ามา 3 ปี หรือ 5 ปี ซึ่งในขณะนั้นเราได้รับเพียงแค่จดหมายเตือนยังไม่ได้เข้ามาตรวจจับ ดังนั้นเราสามารถตกลงเพื่อขอซื้อแบบถูกต้อง หรือตามกระบวนการของแต่ละสถานการณ์ สำคัญที่สุด คือการปฏิบัติตามข้อที่ตกลงกันไว้ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นมาตรการจะรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ถ้าตำรวจเข้ามาตรวจแล้วเราทำอะไรได้บ้าง ??
ในกรณีที่เข้ามาพร้อมตำรวจ คือต้องมีหลักฐานพอสมควร แม้แต่กระทั่ง Layout ของบริษัทฯ ขออนุญาตแชร์เคสที่ทางผู้ประกอบการเองพยายามทำลายหลักฐานด้วยการเอาน้ำหยอดเครื่องบ้าง ทำลายคอมพิวเตอร์หน้างานบ้าง ซึ่งก็อาจจะสามารถรอดไปได้แค่เฉพาะหน้า แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงมากเช่นกัน เพราะก็ยังมีหลักฐานอื่นๆ เช่น ไฟล์งาน ที่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ มีหลายเคสที่บางองค์กรแก้ไขสถานการณ์ด้วยการแอบอ้างว่าเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของพนักงาน ถ้าพนักงานทำงานให้กับองค์กรมูลค่าที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเพื่อองค์กร ไฟล์งานที่เกิดขึ้นก็เพื่อสร้างรายได้ให้องค์กร ในทางกฎหมายก็ยังมีผลต่อองค์กรอยู่ดี ซึ่งก็ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและคู่แข่งที่ทราบข่าว
ถ้าตรวจเจอแล้ว จะโดนค่าอะไรบ้าง แล้วจะต่อรองอะไรได้บ้าง??
ทีมงานที่เข้ามาตรวจสอบจะระบุว่าพบอะไรที่ผิดลิขสิทธิ์ ทำเป็น Report ให้ผู้ที่มีอำนาจเซ็นต์ อาทิ เจ้าของบริษัทฯ ผู้ถือหุ้น ในส่วนนี้จะสามารถใช้เป็นหลักฐานในการยอมรับความผิดได้
ค่าเสียหายเค้าจะประเมินว่าเราจะก่อให้เกิดรายได้จากสินทรัพย์ คือ License ของเจ้าของลิขสิทธิ์จำนวนเท่าไหร่ เช่น ใช้มา 10 ปี แล้ว มีไฟล์เก่าๆ เค้าก็จะไปย้อนดูเพื่อประเมินค่าปรับ ตั้งแต่หลักฐานในอดีตจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานจะเรียกร้องให้ลงทุนตามการใช้งาน ต้องมี License ที่ถูกลิขสิทธิ์ตามที่ทางหน่วยงานตรวจสอบพบ ในช่วงนี้ยังสามารถเจรจาได้ ในกรณีที่เราไม่ได้ใช้จริงๆ เช่น ไปซื้อคอมมาจากที่แหล่งขาย ซอฟต์แวร์นี้เค้าลงมาให้อยู่แล้ว เราไม่ได้มีเจตนาจะใช้ และถ้าเกิดในเครื่องนั้นไม่มีไฟล์จริงๆ ไม่เคยเปิดใช้ สิ่งที่เค้าตรวจเจอก็อาจจะไม่เป็นผล และจะมีค่าใช้จ่ายหลังจากที่ถูกดำเนินการแล้ว หน่วยงานจะส่งทีมงานเข้ามาตรวจสอบขึ้นอยู่กับข้อตกลงว่าทุกๆ 2 หรือ 3 เดือน ในแต่ละครั้งก็จะมีค่าใช้จ่าย 3-4 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนเครื่องผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คือ สิ่งที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 (“พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์”) โดยจัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม (Literary Work)
ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ กำหนดว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายถึง คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือให้ได้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด ในกรณีที่บุคคลใด ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บุคคลนั้นจะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท
และหากเป็นการกระทำเพื่อการค้า จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้หากผู้ใดรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น แต่ยังนำไปขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ เผยแพร่ต่อสาธารณชน แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ นำเข้าหรือสั่งเข้ามาในประเทศไทย เพื่อหากำไร ก็มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท และหากเป็นการทำเพื่อการค้าผู้นั้นจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกเหนือจากการแก้ไขบรรเทาความเสียหายในคดีอาญาแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ยังสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง ในกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ภายใต้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์หากศาลพบว่ามีการกระทำความผิดจริงอาจมีคำห้ามมิให้กระทำละเมิดอีกต่อไป และมีคำสั่งให้ชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงอันเนื่องจากการละเมิดดังกล่าว
5. วิธีการควบคุมและแก้ไข
1.มีเจ้าหน้าที่ IT ที่ดูแลโดยตรง
2.ร่างระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อลดช่องโหว่ของการละเมิดลิขสิทธิ์
2.1 การตั้งค่าควมคุมการเข้าถึง Internet
2.2 การควบคุมสิทธิ์ในการติดตั้งซอฟต์แวร์
2.3 กำหนดรอบระยะเวลาการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง
3.ร่าง และ ประกาศ ให้พนักงานทุกคนรับทราบ เป็นลายลักษณ์อักษรถึงการห้ามติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ และโทษของการละเมิดที่มีผลต่อตัวพนักงาน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หวังว่าจะช่วยไขข้อสงสัยและพอเป็นแนวทางให้กับทุกท่านได้ โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์นอกจากจะถูกปรับแล้ว ยังต้องถูกตรวจสอบระยะยาวอีก เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา ที่สำคัญอาจเสียไปถึงชื่อเสียงและเครดิต หากคู่แข่งหรือลูกค้าทราบว่าบริษัทของคุณใช้ซอฟต์แวร์ผิดลิขสิทธิ์ และในปัจจุบันนี้ก็มีหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบเคร่งขัดมากขึ้น แถมรางวัลนำจับก็มูลค่าไม่น้อย เรียกได้ว่าไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง
หากท่านใดต้องการคำแนะนำเกี่ยบกับซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ด้านการออกแบบ สามารถติดต่อสอบถามทาง แอพพลิแคด ทีมงานยินดีที่จะให้คำปรึกษาและดูแลคุณ สามารถติดต่อกลับมาได้ที่อีเมล [email protected] หรือ โทร 095-365-6871
ข้อมูลและรูปภาพ: กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์(BSA), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.), MeriTalk, Bennett Office Technologies, roodwitgroesbeek.nl, CAT cyfence, SD Times, Hidden Treasure
สาระน่ารู้อื่นๆ
โดน{แจ้งเตือน}ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ควรทำอย่างไร
ซื้อขาดถูกกว่าเช่าใช้ GstarCAD CAD ลิขสิทธิ์ ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้ CAD
AutoCAD กับ SOLIDWORKS โปรแกรม CAD ไหนที่ใช่ และเหมาะกับงานคุณที่สุด