Articles

ผู้ประกอบการมีเฮ..ขยายเวลาซื้อซอฟต์แวร์ภายในปีนี้ ลดภาษี 150%

ผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้เฮกันอีกครั้ง เพราะในปีนี้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ขยายเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการนำค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการซื้อคอมพิวเตอร์, ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์มาใช้ในการหักภาษี 1.5 เท่า หรือ 150% ได้เป็นเวลาอีก 1 ปี

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศออกไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2560 โดยกระทรวงการคลังมีการปรับเงื่อนไขบางส่วนในเรื่องของจำนวนการหักรายจ่ายจากเดิม 2 เท่า เหลือ 1.5 เท่า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังมากเกินไป ซึ่งการหักรายจ่าย 1 เท่าแรก เป็นการหักเท่ากับการจ่ายจริง ส่วนอีก 0.5 เท่าเป็นการหักค่าสึกหรอ หรือค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามปกติ มาตรการภาษีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีทำนองเดียวกับสิทธิประโยชน์ที่ได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นมาตรการภาษีของเดิมที่สิ้นสุดไปแล้ว มาตรการภาษีนี้เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน

นิยามคำว่า คอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ นั้น ประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดคำนิยามไว้เป็นการเฉพาะกรณี จึงสามารถพิจารณาความหมายได้ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ดังต่อไปนี้

คอมพิวเตอร์ หมายถึง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ ทำหน้าที่เสมือนสมองกล ใช้สำหรับแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งที่ง่ายและซับซ้อน โดยวิธีทางคณิตศาสตร์

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายถึง คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด

ซอฟต์แวร์ (Software) หมายถึง ส่วนชุดคำสั่ง

ฮาร์ดแวร์ (Hardware) หมายถึง ส่วนเครื่อง ส่วนอุปกรณ์

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้อีก 0. 5 เท่า สำหรับทรัพย์สินดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ.2559 นั้น ก็มิได้ให้ความหมายโดยกำหนดคำนิยามของคำว่า “คอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์” ไว้เป็นพิเศษ แต่ในเมื่อสิทธิในการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ.2559 ใช้หลักเกณฑ์ทรัพย์สินนั้นต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรได้

 

 

ทรัพย์สินที่จะนำมาหักค่าใช้จ่าย 1.5 เท่า ตามมาตรการภาษีนี้ได้นั้นจะต้องเป็นการลงทุนในทรัพย์สินประเภท

  1. เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์
  2. โปรแกรมคอมพิวเตอร์
  3. ยานพาหนะที่มิใช่รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง
  4. อาคารถาวรแต่ไม่รวมถึงที่ดินและที่อยู่อาศัย

ซึ่งจะต้องเป็น ทรัพย์สินใหม่ที่มีการจ่ายเงินลงทุนในปี 2560 และพร้อมใช้งานภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เว้นแต่เครื่องจักรและอาคารถาวรจะพร้อมใช้งานหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ก็ได้ หากกรณีที่เป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้สิทธิหักรายจ่าย 2 เท่าตามมาตรการภาษีของเดิมที่สิ้นสุดไปแล้ว แต่ยังจ่ายเงินลงทุนไม่ครบถ้วน และมาจ่ายต่อในปี 2560 ก็ได้รับสิทธิหักรายจ่าย 1.5 เท่าตามมาตรการภาษีนี้ได้ โดยต้องมีการจัดทำโครงการลงทุนและแผนการจ่ายเงินให้กรมสรรพากรทราบด้วย

โดยปกติสำหรับค่าซื้อคอมพิวเตอร์  โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์นั้น สามารถหักค่าเสื่อมได้อยู่แล้ว แต่ในส่วนสิทธิประโยชน์นี้ทำให้นำค่าใช้จ่ายที่ซื้อคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์ สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มได้อีก โดยในการหักดังกล่าวจะต้องแบ่งทยอยหักออกเป็น 3 ปี หรือ 5 ปี แต่จำเป็นต้องดำเนินการจัดซื้อให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 นี้เท่านั้น

สำหรับการลงทุนที่เข้าข่ายได้แก่

ด้านคอมพิวเตอร์ : ซื้อคอมพิวเตอร์ PC, Laptop, Notebook, Server

ด้านซอฟต์แวร์ : ซื้อซอฟต์แวร์ CAD, Antivirus, Microsoft Office, Adobe, Etc.

โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
  • เป็นรายจ่ายของค่าคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ (เช่น กราฟิกการ์ด, ซีพียู ฯลฯ) และโปรแกรม, ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์
  • เป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นภายในระหว่างตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2560
  • เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อการลงทุน, ต่อเติม เปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นเท่านั้น
  • ไม่นับค่าใช้จ่ายที่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม หรือบำรุงรักษา
  • ต้องเป็นทรัพย์สินใหม่แกะกล่อง (ของมือสองหมดสิทธิ์)
  • มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ และพร้อมใช้งานภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ยกเว้น เครื่องจักร และอาคารถาวรที่อาจได้มาหรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ก็ได้
  • ทรัพย์สินนั้นต้องอยู่ในประเทศไทย (ยกเว้น ยานพาหนะ)
  • ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้นำไปใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น และใช้สิทธิในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

  1. หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา
  2. หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ เพิ่มได้อีก 1 เท่าตามที่จ่ายจริงภายในปี 2560 เพื่อความเข้าใจสำหรับวิธีการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ เพิ่มได้อีก 1 เท่า ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่าง ดังต่อไปนี้

หากผู้ประกอบการจ่ายค่าซื้อทรัพย์สินทั้งประเภทอุปกรณ์ และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์หลายประเภท กรณีต้องเฉลี่ยหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ อย่างไร พิจารณาได้ดังต่อไปนี้

  • กรณีซื้อคอมพิวเตอร์ (อุปกรณ์) พร้อมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ (มิได้แยกราคาซื้อคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์) กรณีนี้ถือเป็นการซื้อทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ (อุปกรณ์)
  • กรณีแยกซื้อคอมพิวเตอร์ (อุปกรณ์) และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ โดยมีเจตนาแยกซื้อทรัพย์สินดังกล่าว และระบุแยกรายการทรัพย์สินนั้นไว้ชัดแจ้งในใบกำกับภาษี กรณีถือเป็นการซื้อทรัพย์สิน ดังเช่น คอมพิวเตอร์ (อุปกรณ์) และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์แยกจากกันอย่างชัดแจ้ง

เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงเห็นได้ว่าผู้ประกอบการมีสิทธินำรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ สำหรับค่าซื้อคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์มาหักเป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ เพิ่มได้อีก 0.5 เท่าตามที่จ่ายจริง นอกจากหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 โดยผู้ประสงค์จะใช้สิทธิหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนดังกล่าว สามารถหักรายจ่ายเพิ่มได้อีก 0.5 เท่าทางภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ทั้งนี้ รายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ สำหรับคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์นั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกาศกำหนด

การที่รัฐออกมาตรการทางภาษีที่ดีมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้ นับเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะจะเป็นการช่วยให้เกิดการคล่องตัว และหมุนเวียนเงินให้ระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้คาดว่าจากมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ปี 2560 การลงทุนของภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้น ผู้ประกอบการเร่งลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 8,000 ล้านบาท อันจะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันปกป้องประเทศไทยจากภาวะความเสี่ยงจากความผันผวนในเศรษฐกิจโลกของปีนี้ได้

อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนฯ มีประเด็นค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษี หรือสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกพื้นที่ และศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร.1161

สำหรับผู้ที่ต้องการจะซื้อซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์ สามารถสั่งซื้อหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทาง https://www.applicadthai.com/ ได้เลยนะคะ

อ้างอิง : กรมสรรพากร

เรีบบเรียง:  Wilaipnan S.


Photo of author
WRITTEN BY

Frozen Whale

ยังมีอีกหลายอย่างที่รอเราเข้าไปค้นหา สิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี อย่าหยุดที่จะก้าว แต่จงก้าวต่อไปในทุกๆ วินาที เรียนรู้และอัปเดตอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ